ค้นหาหนัง

15 Minutes คู่อำมหิต ฆ่าออกทีวี

15 Minutes
เรื่องย่อ : 15 Minutes คู่อำมหิต ฆ่าออกทีวี

เอมิล สโลแว็ก (Karel Roden) และโอเล็ก ราซกูล (Oleg Taktarov) คือสองอาชญากรจากฝั่งยุโรปที่มาอเมริกาเพื่อความดังและความร่ำรวย โดยการใช้กล้องถ่ายวีดีโอคอยถ่ายพฤติกรรมของพวกเขาทั้งยามปกติและยามที่ก่อเหตุอาชญากรรม ก่อนจะส่งคลิปให้สถานีโทรทัศน์ไปออกข่าว แต่ว่าตำรวจไม่ยอมให้ 2 วายร้ายนี้ทำตามอำเภอใจ โดยเจ้าหน้าที่เอ็ดดี้ เฟลมมิ่ง (Robert De Niro) และจอร์ดี้ วอร์ซอว์ (Edward Burns) ได้รับมอบหมายให้ไปตามคดีนี้ พวกเขาก็ต้องแข่งกับเวลาก่อนที่พวกมันจะลงมือก่อการโหดมากกว่านี้ เพื่อแลกกับความดังบนจอทีวี

IMDB : tt0179626

คะแนน : 7



เป็นหนังที่จิกกัดสื่ออเมริกาได้น่าสนใจเรื่องหนึ่งครับ ว่าเห็นแก่การขายข่าว เห็นแก่การทำเงินเป็นหลักโดยไม่สนใจว่าการเสนอแต่ความรุนแรงนั้นมันจะเกิดผลกระทบเสียหายแค่ไหน ตั้งแต่เรื่องอย่างทำให้ผู้คนที่ดูข่าวอยู่ทางบ้าน เกิดมีแต่ความไม่สบายใจมากขึ้นทุกวันๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างพฤติกรรมเลียนแบบไม่ว่าจะเลียนแบบโดยพวกโจรหรือพวกเด็กที่ไม่ประสีประสา

โดยส่วนตัวแล้วผมว่าสื่อก็คือสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งครับ เป็นสิ่งแวดล้อมที่สามารถหล่อหลอมผู้คนได้ ไม่ว่าจะความคิด จิตใจ หรือพฤติกรรม สื่อทีวีมีอิทธิพลไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าการจะโทษสื่อทั้งหมดว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรงนั้นคงไม่ถูกนักซะทีเดียว แต่หากจะบอกว่าสื่อไม่มีส่วนใดๆ เลยกับความรุนแรงที่เกิดมากขึ้นในสังคม นั่นก็คงจัดว่าไม่ถูกเหมือนกัน

แต่ในมุมหนึ่งก็เข้าใจสื่อครับ ว่าจริงๆ แล้วมันก็คืออาชีพหนึ่ง คือการทำมาหากินอย่างหนึ่งที่ “ผลกำไร” มีอิทธิพลชี้ชะตาหลายๆ อย่าง ดังนั้นถ้าสปอนเซอร์จ่ายให้ข่าวแรงๆ มากกว่าข่าวสามัญ แล้วแบบนั้นสื่อจะมีทางเลือกได้สักแค่ไหน เพราะในความจริงนั้น จะทำอะไรก็ต้องใช้เงินทุน ดังนั้นจะให้เสนอข่าวดีๆ หรือเสนอสาระและสารคดีมากๆ ก็ได้ แต่ถึงจุดหนึ่งไม่มีเงินมาโปะค่าใช้จ่ายก็มีอันต้องปิดสื่อนั้นๆ กันไป

ดังนั้นมันก็ย้อนมาสู่คนดูผู้ชมอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจข่าวแรงๆ ละครแรงๆ มากกว่าข่าวสร้างสรรค์และละครน้ำดี แบบนี้แล้วสปอนเซอร์จะไปสนับสนุนอะไรได้?… ก็ต้องทุ่มไปที่ข่าวแรงๆ ละครแรงๆ นั่นเอง

สิ่งที่ปรากฏในทีวีนั้นไม่ได้บ่งบอกเฉพาะโฉมหน้าของสถานีนั้นๆ แต่มันบอกได้ถึงโฉมหน้าแท้ๆ ของคนในสังคมนั้นๆ ด้วย

ใช่ครับ เริ่มแรกผมเขียนถึงสื่อมะกัน แต่ย่อหน้าหลังๆ นี่เริ่มพาดพิงอิงถึงสื่อของบ้านเราบ้างแล้ว

คงไม่มีประโยชน์ครับหากเราจะรณรงค์ให้คนหันมาดูสารคดีกันมากๆ ดูละครน้ำดีกันเยอะๆ เพราะยังไงทุกคนก็มีเสรีในการเลือกเสพสื่อและละครอยู่แล้ว แต่ก็ขอให้ตระหนักนะครับว่าหากเราชอบละครแบบไหน หรือสนใจข่าวแบบไหน เราก็จะได้ละครแบบนั้นมาขึ้นจอมากขึ้นๆ ได้ข่าวแบบนั้นมาปรากฏในจอมากขึ้นๆ เพราะสื่อก็ต้องเอาใจคนดูเพื่อรักษาเรตติ้งและความมั่นคงของปากท้องพนักงาน

หลังจากตระหนักในย่อหน้าที่แล้ว ก็ต้องไม่ลืมตระหนักอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ สิ่งที่โผล่ในจอมากๆ นั้นจะมีผลต่อสังคม ที่สำคัญคือมีผลในการหล่อหลอมเด็กและเยาวชน (หรืออีกนัยหนึ่ง “ลูกหลานทุกท่าน”) ให้มีพฤติกรรมเลียนแบบ มีแนวคิดในทิศทางที่ตัวละครชอบทำกัน รวมถึงข่าวร้ายๆ ทั้งหลายทั้งปวงก็จะมีอิทธิพลต่อการมองโลก อีกทั้งการตัดสินใจในบางย่างก้าวของชีวิตพวกเขาด้วย

ถ้าบางคนคิดว่า “งั้นก็อย่าให้ลูกดูละครพวกนั้น” ก็ขอทักอย่างสุภาพว่า “ฝันไปแล้วครับ” เพราะสมัยนี้มี Youtube ให้ดูย้อนได้สบายๆ หรือต่อให้เรากันลูกหลานจากการดูละครรุนแรงได้ ยังไงลูกหลานคนอื่นที่ดูละครเหล่านั้น ก็อาจจะมากระทำพฤติกรรมที่ไม่ดีกับลูกหลานเรา มาถ่ายทอดอะไรลบๆ จากละครให้ลูกหลานเราได้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่ดีหนีไม่พ้นจริงๆ ครับ (ยกเว้นจะกันไม่ให้ลูกพบเจอใครหรืออะไรเลย จัดให้ลูก Home School ต่อด้วย Home Work ตามด้วย Home Live และจบด้วย Home Die )

ว่าง่ายๆ คือถ้าสังคมในอนาคตจะอุดมไปด้วยบรรยากาศแบบเมียหลวง หรือแรงเงา ฯลฯ ก็อย่าแปลกใจ

เพราะเรานี่แหละมีส่วนก่อร่างสร้างให้มันเป็นเช่นนั้นเอง

เรื่องนี้ผู้กำกับ John Herzfeld เขียนบทและกำกับเองครับ ซึ่งในแง่ของประเด็นการวิพากษ์สังคมและสื่ออเมริกันนั้นนับว่าทำได้ไม่เลว ส่วนในแง่ของความสนุกนั้นก็ถือว่ายังไม่เยอะ หนังต้องพึ่งพาการแสดงดีๆ ของ De Niro ค่อนข้างมากครับ ในขณะที่ Burns นั้นก็ถือว่าทำได้ในระดับโอเค แต่ดาราสมทบคนอื่นจะเด่นกว่า เช่น Kelsey Grammer ในบทโรเบิร์ต ฮอว์กินส์ ที่ลีลานับว่าจัดจ้านเป็นสีสันหนึ่งของหนังทีเดียว

สรุปว่าดูได้เพลินๆ อีกเรื่อง แต่ยังไม่ถึงขั้นยอดมาก