ค้นหาหนัง

A Better Tomorrow | โหด เลว ดี

A Better Tomorrow | โหด เลว ดี
เรื่องย่อ : A Better Tomorrow | โหด เลว ดี

อาเห่า เป็นสมาชิกแก๊งค์มาเฟีย ขณะที่ อาเฉีย ผู้น้องเป็นตำรวจฮ่องกง อาเฉียโทษอาเห่าว่าเป็นต้นเหตุทำให้พ่อต้องถูกฆ่าตาย วันหนึ่งอาเห่ากับเสี่ยวหม่า ถูกอาชางเพื่อนร่วมแก๊งค์หักหลังเพราะความอิจฉา ทำให้อาเห่าถูกจับและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ส่วนเสี่ยวหม่าได้รับบาดเจ็บสาหัส และหนีไปอยู่ไต้หวัน ขณะที่อาเห่าเมื่อพ้นโทษออกมา ก็หันหลังให้กับธุรกิจเถื่อนทั้งหมด และตั้งใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นคนขับแท็กซี่ แต่ก็พบว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เสี่ยวหม่าต้องกลายเป็นคนขาพิการไป ทันทีที่ได้ข่าวว่าอาเห่ากลับมา อาชางก็วางแผนกำจัดอาเห่าอีกครั้งหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็มีตำรวจจากไต้หวันก็ตามรอยอาเห่ามายังฮ่องกง ส่วนอาเฉียยังทำใจเรื่องที่พ่อต้องตายไม่ได้ ก็คอยแต่โทษอาเห่าและคอยหาเรื่อง เมื่อเสี่ยวหม่ารู้เรื่องทั้งหมดจึงบุกเข้าไปชิงเอาแม่พิมพ์ธนบัตรจากโรงงานของอาชางเพื่อล่อให้อาชางตามล่าและเปิดโอกาสให้อาเห่าหนีไปจากฮ่องกงได้ แต่แล้วก็ถูกแผนซ้อนแผนของอาชาง การต่อสู้อันดุเดือดก็เริ่มต้นขึ้น โดยครั้งนี้มีอาเฉียที่เข้าใจในตัวพี่ชายดีแล้วรวมอยู่ด้วย

IMDB : tt0092263

คะแนน : 10



โหดเลวดี คือผลงานแจ้งเกิดของผู้กำกับ John Woo เปิดประตูสู่พรุ่งนี้แห่งยุคสมัย Action Gangster ของ Hong Kong โดยมี Chow Yun-fat เป็นศูนย์กลางแห่งความเท่ห์ระเบิด สวมเสื้อคลุมยาวกันฝนสีดำ มือสองข้างถือปืน ปากคาบไม้ขีด สวมแว่นกันแดด แม้แต่หนัง Hollywood หลายๆเรื่องยังต้องเลียนแบบตาม

นั่นคือภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนมุมมองของผู้คนต่อโจวเหวินฟะโดยสิ้นเชิง จากก่อนหน้านี้เคยจดจำในคราบพระเอกหนังรักโรแมนติก ไม่ก็เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้หล่อลากดิน ใบหน้าหาได้มีความเป็นพระเอกหนังบู๊แอ๊คชั่นเลยสักนิด (นั่นคือเหตุผลที่ John Woo เลือกเขามาแสดงนำเลยละ) พอพลิกบทบาทครั้งนี้ หนุ่มๆฮ่องกงต่างคลั่งไคล้แต่งตัวเลียนแบบความเท่ห์ ทำให้เสื้อคลุมและแว่นกันแดดขายดีหมดเกลี้ยง พอมีภาคต่อตามมาเลยฮิตอยู่นานเกือบๆทศวรรษ

ผมเคยรับชม A Better Tomorrow เมื่อครั้นนานมาแล้ว เพราะความชื่นชอบในตัวโจวเหวินฟะ พร้อมๆกับเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ และคนตัดเซียน จดจำได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความบันเทิงชั้นเลิศ แอ๊คชั่นสุดมันส์ และพี่โจวเท่ห์ระเบิด … แต่ก็แค่นั้นแหละครับ ไม่คิดมาก่อนว่าชาร์ทจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของประเทศจีนและฮ่องกง หนังเรื่องนี้จะติดอันดับต้นๆไม่ต่ำกว่า Top 5 มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร!

เมื่อพูดถึงอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งต่อวงการ มันอาจไม่ใช่ทั่วโลกที่เห็นพ้องยกย่องสรรเสริญ แค่แค่ในประเทศที่สร้าง ทำเงินประสบความสำเร็จถล่มทลาย เปลี่ยนแปลงค่านิยมยุคสมัย หรือกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นถัดๆมา นั่นเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ล้ำค่าเฉพาะที่เหนือกาลเวลา

คิดว่าผู้ชมสมัยนี้เมื่อมีโอกาสรับชม A Better Tomorrow อาจไม่สัมผัสถึงคุณค่าความยิ่งใหญ่ ก็เหมือนหนัง Action Gangster ทั่วๆไป แถมบางอย่างดูเร่งรีบ เว่อเกิน ไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณความตระหนักรับรู้เข้าใจว่า นี่คือจุดเริ่มต้นครั้งแรกของภาพยนตร์แนวๆนี้ มันอาจทำให้ขนลุกขนพอง เกิดความประทับใจบางอย่างขึ้นเป็นพิเศษก็ได้

John Woo ชื่อจริง Wu Yu-seng (เกิดปี 1946) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติจีน เกิดที่ Guangzhou ความพ่ายแพ้ของเจียงไคเชกในช่วงสงครามกลางเมือง ทำให้ครอบครัวตัดสินใจอพยพมุ่งสู่ Hong Kong อาศัยอยู่ในสลัมเกาลูน ที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ความรุนแรง เสียงปืนและคนตาย, ตอนเด็ก Woo ได้รับวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางกระดูกสันหลังทำให้ต้องผ่าตัดใหญ่ เดินไม่ได้จนอายุ 8 ขวบ ขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย เวลาเดินจะลำบากสักหน่อย (นึกถึงการเดินของโจวเหวินฟะในหนังขึ้นมาทันทีเลย ไม่ต้องมอบหาแบบอย่างไกล ก็ผู้กำกับนี่แหละใกล้ตัว)

แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก แต่ครอบครัวก็เลี้ยงดูให้ Woo เกิดศรัทธาในศาสนาคริสต์ วาดฝันโตขึ้นได้เป็น Christian Minister แต่โชคชะตานำพาเขาสู่โลกภาพยนตร์ หลงใหลหนังเพลงของ Fred Astaire, The Wizard of Oz, แนว Western อาทิ Butch Cassidy and the Sundance Kid และผลงานของ Jean-Pierre Melville, Martin Scorsese

“When I was 11, even though we were poor, my mother was a fan of movies from the west. She used to bring me to the theatre. At that time, a parent could bring a child to the theatre for free. I was fascinated by the musicals, I think they influenced me the most. Also a lot of Fred Astaire…I loved movies and I wanted to be a filmmaker some day.”

แม้จะไม่มีเงินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ Woo ก็หาทางเดินตามฝันสำเร็จ ได้ทำงาน Script Supervisor กับ Cathay Studios เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ Shaw Bros. Studios ภาพยนตร์เรื่องแรก The Young Dragons (1974) ประสบความสำเร็จใช้ได้ เลยถูกดึงตัวสู่ไต้หวัน Golden Harvest Studio สร้างภาพยนตร์แนว Martial Arts อยู่หลายเรื่องจนรู้สึกเบื่อหน่าย ทิ้งท้ายผลงาน Heroes Shed No Tears (1983) เปลี่ยนแนวมาเป็นสงครามเวียดนาม เต็มไปด้วยความรุนแรงมาเกินจนสตูดิโอไม่ยอมนำออกฉาย หลังจากเดินทางกลับ Hong Kong ด้วยนึกว่าเส้นทางอาชีพนี้จะจบสิ้นลงแล้ว แต่บังเอิญพบเจอกับฉีเคอะ (Tsui Hark) หลังจากพูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนคติความเห็นข้ามคืน ได้ข้อสรุปลงเอยที่จะหาทุนให้สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป

“Comedies and Kung Fu films dominated Hong Kong cinema in the mid-eighties. Other genres rarely got the support of the studio and the audience. Both Tsui Hark and myself felt that Hong Kong at that time was seriously lacking in moral values. Young people were lost and trust toward the government was shaken. So I wanted to make an uplifting film to highlight the lost traditional values, including the values of family, friendship, tolerance etc.”

มีภาพยนตร์ 3-4 เรื่องที่ A Better Tomorrow นำแรงบันดาลใจจาก
– Story of a Discharged Prisoner (1967) บางทีก็เรียก True Colors of a Hero หรือ Upright Repenter หนังสัญชาติ Hong Kong กำกับโดย Patrick Lung Kong
– Le Samouraï (1967) หนังแนว Neo-Noir จากประเทศฝรั่งเศส ของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville นำแสดงโดย Alain Delon
– Mean Streets (1973) หนัง Hollywood ของผู้กำกับ Martin Scorsese นำแสดงโดย Robert De Niro
– The Brothers (1979) หนังสัญชาติ Hong Kong แนว Crime Film ของ Shaw Bros. กำกับโดย Hua Shan ซึ่งก็ได้ดัดแปลงจากภาพยนตร์ Bollywood เรื่อง Deewaar (1975) ของผู้กำกับ Salim-Javed นำแสดงโดย Amitabh Bachchan, Shashi Kapoor, Nirupa Roy

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 英雄本色, Ying hung boon sik แปลว่า True Colors of a Hero

Sung Tse-Ho/อาเห่า (รับบทโดย Ti Lung) สมาชิกแก๊งค์มาเฟีย มีเพื่อนสนิท Mark Lee/เสี่ยวหม่า (รับบทโดย Chow Yun-fat) ไปไหนไปด้วยกันตลอด และน้องชาย Sung Tse-Kit/อาเฉีย (รับบทโดย Leslie Cheung) โชคชะตานำพาให้เขาเลือกทำงานเป็นตำรวจฮ่องกง เพราะไม่ต้องการให้น้องมาพัวพันกับงานของตน รับงานสุดท้ายเดินทางไปไต้หวัน แต่กลับถูกทรยศหักหลังโดย Shing/อาชาง (รับบทโดย Waise Lee) หนทางรอดเดียวคือยอมมอบตัวติดคุกเป็นเวลา 3 ปี ความไปเข้าหูอาเฉียทำให้โกรธเกลียดไม่พึงพอใจพี่อย่างรุนแรงจนเลิกนับถือเป็นญาติ ขณะที่เสี่ยวหม่าไปตามล้างแค้นกลุ่มที่หักหลังเพื่อนสนิท แต่ถูกยิงเข้าที่ขากลายเป็นคนพิการ … อนาคตของพวกเขาช่างมืดมนเสียเหลือเกิน

Ti Lung/ตี้หลุง ชื่อจริง Tommy Tam Fu-Wing (เกิดปี 1946) นักแสดงสัญชาติจีน ที่เคยโด่งดังมาตั้งแต่ยุคสมัย Shaw Bros. เกิดที่ Xinhui, Guangdong หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดอพยพสู่ Hong Kong พ่อเสียชีวิตตอนอายุ 11 ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนทำงานเป็นเด็กส่งของ หนังสือพิมพ์ และเพื่อป้องกันตัวเองได้เรียน Wing Chun จากอาจารย์ Jiu Wan เพื่อป้องกันตัวเอง, ครั้งหนึ่งเห็นโฆษณาค้นหานักแสดงของ Shaw Brothers สมัครไปได้เข้าเรียน Shaw Acting Course จบออกมามีบทเล็กๆเรื่อง Return of the One-Armed Swordsman (1969) ไต่เต้าขึ้นมาจนได้บทนำครั้งแรก Dead End (1969) ของผู้กำกับ Chang Cheh ถูกใจจนกลายเป็นขาประจำ โด่งดังสุดในช่วงนี้คือ The Blood Brothers (1973), The Avenging Eagle (1978)

หลังออกจาก Shaw Brother เพราะเคยได้รู้จัก John Woo ขณะเพิ่งไต่เต้าตอนอยู่ Shaw Bros. เลยได้รับการชักชวนให้มารับบทใน A Better Tomorrow เปลี่ยนภาพลักษณ์จากหนุ่มนักต่อสู้ กลายเป็นฮีโร่ Gangster ผลงานเด่นตามมาอาทิ Drunken Master II (1994), The Kid (1999),Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon (2008) ฯ

เกร็ด: ชื่อในวงการเกิดจากความที่ตนชื่นชอบนักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส Alain Delon เลยขอ Shaw Bros. ให้หาชื่อที่มันออกเสียงคล้ายๆ วันหนึ่งเลขาพบคำว่า Ti Lung (Ti แปลว่า โชคดี, Lung แปลว่า มังกร) มีความประทับใจอย่างมากเลยเลือกใช้ชื่อนี้อย่างเป็นทางการ

รับบท Sung Tse-Ho/อาเห่า เจ้าพ่อมาเฟียที่ไต่เต้าขึ้นมาน่าจะจุดสูงสุดในชีวิต รอบรู้เก่งกาจด้านธุรกิจ ทางหนีทีไล่ และสัญชาติญาณการเอาตัวรอดสูงเลิศ แต่เมื่อน้องชายกลายเป็นตำรวจ ตั้งใจจะทำตามคำขอพ่อเลิกทำงานนี้ แต่กลับถูกตลบหักหลังจนต้องยอมมอบตัวกับตำรวจ ติดคุก 3 ปี กลับออกมาเพราะเป็นอาชญากรเก่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัว น้องหันหลังให้ไม่ยอมรับ พบเห็นเพื่อนเก่าขาพิการก็ยากจะทำใจ เมื่อต้องเลือกระหว่างกัดก้อนเกลือกินอาชีพสุจริต กับหวนคืนสู่วงการ ชายคนนี้จะสามารถกลับใจได้จริงๆนะหรือ

ผมว่าตัวละครนี้มันเฉิ่มเชยไปเสียหน่อยนะ คือโคตรจะพระเอกเลย (อ่าว ก็พระเอกนิหน่า!) ตั้งใจว่าจะกลับตัวเป็นคนดีก็ไม่มีวอกแวกโล้ลังเลใจสักนิดเดียว แค่ว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามมา พยายามท้าพิสูจน์ฉุดดึงรั้งเขาให้หวนกลับสู่วิถี ‘อดีตเคยเป็นโจร ปัจจุบันก็ไม่มีทางเลิกได้’ แต่สำหรับบุคคลผู้มีจิตใจหนักแน่นมั่นคงดั่งภูผา ไม่ว่าเอาช้างสารหรือรถบรรทุกมาฉุดก็คงไม่ไหวติง

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือตี้หลุง คว้ารางวัล Best Actor จาก Golden Horse Film Festival ทั้งๆที่บทบาทมีเพียงมิติเดียว คงเพราะชาวจีนสมัยนั้นต้องการฮีโร่ผู้สามารถแบบอย่างในการใช้ชีวิต และตัวละครนี้สนองภาพลักษณ์นั้นได้เป็นอย่างดี (แต่โจวเหวินฟะแย่ง Best Actor จาก Hong Kong Film ไปครองแทน นี่แปลว่าชาวฮ่องกงไม่ได้ใคร่สนใจตัวละครของตี้หลุงสักเท่าไหร่)

Leslie Cheung Kwok-wing (1956 – 2003) นักร้องนักแสดงสัญชาติ Hong Kong บิดาผู้ก่อตั้ง Cantopop, เกิดที่ Kowloon พ่อเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดังที่มีลูกค้าอย่าง William Holden, Marlon Brando, Cary Grant ในวัยเด็กถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวกับบรรดาตุ๊กตาของเล่นต่างๆ แถมพ่อก็ไม่เคยควบคุมอารมณ์ตนเองได้เลย ครอบครัวจึงมีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้งและการใช้อารมณ์ ตอนอายุ 12 ถูกส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เลือกเชื่อ Leslie เพราะชื่นชอบหนัง Gone With the Wind และตัวละคร Leslie Howard, โตขึ้นสอบเข้า University of Leed สาขาการจัดการ แต่แค่เพียงปีเดียวก็กลับบ้านเพราะพ่อป่วย เซ็นสัญญากับ Polydor Records ออกอัลบัมแรก I Like Dreamin (1977) เป็นภาษาอังกฤษเลย Flop ดับสนิท แต่ก็ยังฝืนทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งอัลบัม Wind Blows (1982) บทเพลง Monica ติดชาร์ทอันดับ 1 กลายเป็น Superstar โดยทันที

สำหรับวงการภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ A Better Tomorrow (1986) ของผู้กำกับ John Woo ทุบสถิติทำเงินสูงสุดใน Hong Kong ตามด้วย A Chinese Ghost Story (1987), Rouge (1987) ร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ครั้งแรก Days of Being Wild (1991) นี่ทำให้ Leslie Cheung ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ทั้งวงการเพลงและภาพยนตร์

รับบท Sung Tse-Kit/อาเฉีย น้องชายของอาเห่า จากที่เคยสนิทสนมรักพี่มากๆ หลังจากรับรู้ตัวตนแท้จริงของเขา แสดงความโกรธเกลียดเคียดแค้นรุนแรงอย่างออกนอกหน้า โทษว่าเกล่าเพราะพี่ทำให้พ่อตาย เลยไม่คิดยินยอมให้โอกาสให้อภัย ยิ่งเมื่อสามปีผ่านไปได้รับการปล่อยตัวออกมา พลอยให้ชีวิตตนเองตกอับเพราะอาชีพตำรวจไม่ก้าวหน้า (มีญาติเป็นอาชญากรเลยเลื่อนขั้นไม่ได้) จะมีวิธีการไหนไหมที่ทำให้สองพี่น้องหันกลับมามองหน้ากันติด ให้อภัยอดีตของกันและกัน

เลสลี่ในบทบาทแจ้งเกิด ถ่ายทอดออกมาจากความทรงจำสมัยวัยเด็กของตนเอง พบเห็นพ่อเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดอันธพาล ชอบละลานทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น ความทรงพลังสมจริงที่แสดงออกมานั้น มันทะลักเอ่อมากล้นเหมือนคนเสียสติ เห็นแล้วทุกข์ทรมานใจมากๆเลยละ นี่สามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเขาอีกทศวรรษออกมาได้ไม่ยากเลยนะ

ความโกรธเกลียดเคียดแค้น แถมดื้อรั้นไม่ยินยอมให้อภัยพี่ของอาเฉีย อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าเว่อเกินแบบไร้สาระ อะไรมันจะหน้ามืดตามัวได้ขนาดนั้น แต่จะบอกว่ากับคนที่มีปัญหาทางจิต สิ่งที่แสดงออกมาภายนอกพบเห็นนี้ยังน้อยนักเมื่อเทียบกับความคลุ้มคลั่งที่อยู่ภายใน คนแบบนี้บอกให้ปล่อยวางเสียบ้างก็จะคิดว่านั่นคือการหนีปัญหา จนกว่าจะพบเจอสถานการณ์เป็นตายเข้ากับตัวเอง ถึงจะเริ่มคิดได้ว่า ‘โอกาสครั้งที่ 2’ มันมีอยู่บนโลกนี้จริงๆ

Chow Yun-Fat, โจวเหวินฟะ (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติฮ่องกง ได้รับการเปรียบเทียบเท่า Cary Grant ที่หล่อบึกบึนจัดจ้านกว่า เกิดที่ Lamma Island นอกชายฝั่งเกาะฮ่องกง มีชีวิตเด็กที่ยากไร้ พ่อเคยติดการพนันจนหมดตัว (ถึงเคยรับบทเซียนพนัน แต่เกลียดเข้ากระดูกดำ) แต่โชคดีที่ได้เรียนจบวิทยาลัย มีโอกาสเป็นนักแสดงฝึกหัดยังสถานีโทรทัศน์ TVB โด่งดังกับละครโทรทัศน์ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980) ขณะที่ภาพยนตร์ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จนกระทั่งได้รับเลือกให้มาแสดงใน A Better Tomorrow (1986) โด่งดังชั่วข้ามคืน, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ An Autumn’s Tale (1987), The Killer (1989), God of Gamblers (1989), Hard Boiled (1992), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ โกอินเตอร์กับ Anna and the King (1999), Pirates of the Caribbean: At World’s End (2007) ฯ

แซว: ในบรรดาดาราจีน/ฮ่องกง/ไต้หวัน ที่โกอินเตอร์ระดับนานาชาติ มักจะมีชื่อภาษาอังกฤษ เช่น เฉินหลง Jackie Chan, หงจินเป่า Sammo Hung, ผู้กำกับ John Woo เองก็เช่นกัน แต่จะมีโจวเหวินฟะ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่โด่งดังระดับโลกด้วยชื่อจีนของตนเอง (จริงๆมีนะครับชื่อ Donald Chow แต่ไม่ใช่เพราะมันไร้เสน่ห์โดยสิ้นเชิง)

รับบท Mark Lee/เสี่ยวหม่า นักเลงจอมเก๋า นิสัยขี้เล่น ทะเล้น แต่เวลางานจริงจังถึงที่สุด ไม่ชอบอย่างยิ่งให้ใครเอาปืนมาจ่อหัว และสิ่งสำคัญสุดของชายคนนี้คือมิตรภาพ เพื่อนแท้ไม่มีวันทรยศหักหลัง ต่อให้ต้องล่องเรือหลบหนี สุดท้ายก็หวนกลับมาเพื่อเพื่อนตาย

ใบหน้าอ่อนเยาว์ของโจเหวินฟะ เหมาะกับเป็นพ่อบ้านเลี้ยงดูลูกแฝด คือไม่มีเค้าของความโหดเหี้ยม นิสัยจริงก็แบบตัวละครในช่วงแรกๆ แต่พอทีจริงเมื่อไหร่พบเจอเรื่องจริงจัง ปั้นหน้าเครียด เปลี่ยนไปเป็นคนละคน นอกจากภาพลักษณ์โคตรเท่ห์ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เขากลายเป็นตำนานนักแสดงของฮ่องกงไปโดยทันที

ฉากที่หลายคนคงอินมากๆอาจถึงขั้นหลั่งน้ำตา ขณะกำลังพักกลางวันกินข้าวพบเจอเพื่อนเก่า ถึงขนาดอึ้งทึ่งตะลึงงันค้างอาหารไว้คาปากเคี้ยวต่อไม่ลง จากเคยเป็นมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่ค้ำฟ้า ปัจจุบันล่วงหล่นลงมาเป็นหมาวัดเด็กเช็ดรถขาเป๋เสียแล้ว วิถีของโลกมันช่างหาความยั่งยืนจีรังไม่ได้สักนิดเดียว

แต่ผมชอบสุดก็ช็อตนี้แหละ จุดบุหรี่ด้วยแบงก์ร้อยดอลลาร์ เจ๋งกว่าตอน Joker เผาเงินหลายล้านเล่นใน The Dark Knight (2008) เสียอีกนะ

ไดเรคชั่นของหนังรับอิทธิพลจาก The Wild Bunch (1969) โคตรหนัง Western ของผู้กำกับ Sam Peckinpah ดำเนินเรื่องด้วยการตัดต่อที่กระชับรวดเร็วฉับไว Average Shot Length (ASL) ดูแล้วไม่น่าเกิน 2 วินาที เผลอหันหน้ากระพริบตาก็อาจพลาดไม่ทันได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

ภาพยนตร์สมัยนี้นิยมเล่นกับงานภาพที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว โฉบเฉี่ยว ถือด้วยมือ Hand-Held เขย่าสั่นๆเพื่อสร้างอารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจ แต่หนังเรื่องนี้มุ่งเน้นใช้การตัดต่อแบบรวบรัดฉับไว กระโดดไปเรื่อยๆคล้ายๆ Jump-Cut และสโลโมชั่นในจังหวะยิงกัน ถือว่าสร้างความระทึกสุดมันส์ในระดับที่พอๆกันเลยละ, ซึ่งโดยส่วนตัวบอกเลยว่าชื่นชอบไดเรคชั่นแบบหนังเรื่องนี้กว่ามาก เพราะกล้องมักไม่มีการเคลื่อนไหวสั่นๆแรงๆจนดูไม่รู้เรื่อง ทุกภาพทุกช็อตเห็นทุกสิ่งอย่างคมชัดเจนเต็มสองตา แต่เทคนิคนี้ก็แอบอันตรายเล็กๆ เพราะภาพจังงังของปืนจ่อยิงหัวเลือดสาดอาบนอง ชวนให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้แน่

ฉากที่กลายเป็นตำนานของหนัง เสี่ยวหม่าฉายเดี่ยวไปล้างแค้นฆ่าคนทรยศให้อาเห่าในภัตราคารจีนแห่งหนึ่ง ภาพสโลโมชั่นตัดสลับกับความเร็วปกติ มันเท่ห์ตรงมีการเอาปืนแอบใส่กระถางต้นไม้ไว้เป็น BackUp สำรองในกรณีฉุกเฉิน ทีแรกนึกว่าคงไม่ได้ใช้ทั้งหมดที่ไหนได้นั่นคือไคลน์แม็กซ์เลยละ วินาทีถูกยิงเข้าที่ขาถ้าไม่ได้กระบอกนั้นช่วยไว้คงได้กลายเป็นศพไปตัดจบแน่เลย

แซว: เสี่ยวหม่ายิงปืนได้ห่วยบรรลัย แทนที่จะเล็งหัวกลับกราดยิงใส่ตัว โดนมั่งไม่โดนมั่ง เปลืองกระสุนชิบหาย สงสัยจะกลัวผู้ชมไม่สะใจเลยเน้นความมันส์เข้าไว้อย่างเดียว

เรื่องราว อารมณ์ ทุกสิ่งอย่าง ถูกบิ้วสร้างเพื่อเป้าหมายการต่อสู้ฉากไคลน์แม็กซ์ตอนจบของหนัง ที่ผู้กำกับ Quentin Tarantino เรียกว่า ‘biggest shootout in the history of film’. พระเอกสามคนสู้กับศัตรูน่าจะนับร้อย หักเหลี่ยมเฉือนคม อะไรก็ไม่รู้มากมายเต็มไปหมด กระสุนเสียงปืน ระเบิดตูมตาม บ้าคลั่งอลังการ ก็แอบเห็นว่ายิ่งใหญ่ระดับ The Wild Bunch แต่เจ๋งกว่าคือมันมีวินาทีช็อตโลกปรากฎอยู่ ถ้าไม่รู้มาก่อนแล้วรับชมเชื่อว่าจะทำให้คุณอึ้งทึ่งอ้าปากค้างไปเลยนะ

เพลงประกอบโดย Joseph Koo สัญชาติ Hong Kong เคยเป็นขาประจำของ Shaw Bros. โด่งดังกับหนังของ Bruce Lee เรื่อง Fist of Fury (1972), Way of the Dragon (1972)

บทเพลงมีกลิ่นอายดนตรี Pop/Rock เน้นเครื่องดนตรี Electronic ถือเป็นเทรนด์แฟชั่นนิยมทศวรรษ 80s ที่ได้สะท้อนภาพวิถีสังคมของยุคสมัยนั้น ผู้คนเต็มไปด้วยความเพ้อฝันล่องลอย คาดหวังว่าจะเจออนาคตพรุ่งนี้ที่สดใส แต่ปัจจุบันยังคงจมปลักอยู่กับด้านมืดในจิตใจของตนเอง, ผมเพิ่งมาสังเกตว่าโน๊ตหลักของเพลงนี้จะมีโน๊ตสามตัวลี้ดนำขึ้นก่อน ซึ่งคงเป็นการสะท้อนสามตัวละครหลักของหนัง ต่อให้โกรธเกลียดเบื่อหน้ากันแค่ไหนก็มิสามารถแยกออกจากกันได้

A Better Tomorrow คือเรื่องราวของการเสียสละ มิตรภาพ และสายสัมพันธ์เพื่อนพี่น้อง ยินยอมกระทำทุกสิ่งอย่างแม้กระทั่งความตาย ด้วยความคาดหวังอนาคตพรุ่งนี้ที่สดสว่างใสงดงามดีกว่าวันวาน

สิ่งที่ John Woo และฉีเคอะคาดหวังจริงๆจากการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คืออนาคตพรุ่งนี้ของประเทศฮ่องกง และวงการภาพยนตร์ ก้าวไปสู่ความเจริญรุดหน้า กลายเป็นชาติผู้นำของทวีปเอเชีย

ในมุมของชาวต่างชาติอย่างเราๆ ฮ่องกงคือหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย (Four Asian Tigers) [อีกสามประเทศคือ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และใต้หวัน] หรือมังกรเอเชีย ที่ช่วงทศวรรษ 60s – 90s มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก้าวกระโดดและต่อเนื่องยาวนาน แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพลักษณ์จากสายตาคนนอก ตัวตนจริงๆของคนภายในประเทศยังประสบปัญหามากมาย สลัมขนาดใหญ่ การงานขาดแคลน ค่าแรงแสนต่ำ ตรงกันข้ามกับค่าครองชีพที่สูงเว่อ ก่อให้เกิดอาชญากรมาเฟียขึ้นมากมาย คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่หาได้ปลอดภัย พบเจอความสุขแท้จริงในชีวิตไม่ ฯ

แต่สิ่งเลวร้ายต่างๆนานาที่เกิดขึ้นผ่านมาในอดีต ก็หาใช่เรื่องที่เราจะแสดงความโกรธเกลียดเคียดแค้นรับไม่ได้ มัวแต่หมกหมุ่นครุ่นคิดวนเวียนอยู่อย่างนั้นชีวิตจักจมปลักอยู่แต่ความทุกข์ทรมาน มิอาจก้าวหน้าพัฒนาไปไหนได้ต่อ แต่ก็จนกว่าจะครุ่นคิดยอมรับเกิดความเข้าใจและสามารถ ‘ให้อภัย’ เพราะไม่มีอะไรในโลกใบนี้ต่อให้คนที่ฆ่าพ่อแม่บังเกิดเกล้า จะมิสามารถยกโทษยกโพย มอบโอกาสครั้งที่สองในชีวิตให้ได้

สำหรับวงการภาพยนตร์, A Better Tomorrow ได้มอบอนาคตความสดใหม่ เกิดแนวหนังที่ชื่อว่า Heroic Bloodshed ส่วนผสมของ
– Scorsesian-Style ที่มักมีเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ตัวละครเป็นหลัก อาทิ มิตรภาพ ครอบครัว ความจงรักภักดี ฯ
– และ Peckinpah-style นำเสนอภาพที่มีความรุนแรงระดับสูง (Ultra-Violence) ยิงกันตาย เลือดสาด ต่อหน้าต่อตา ฯ

ภาพยนตร์เรื่องเด่นๆของแนว Heroic Bloodshed อาทิ The Killer (1989), A Moment of Romance (1990), Hard Boiled (1992), โกอินเตอร์กับ Reservoir Dogs (1992), Léon: The Professional (1994), Face/Off (1997), Infernal Affairs (2002) ฯ

วกกลับมาที่ใจความของหนังในมุมของอาเห่า เมื่อพบเห็นน้องชายจมปลักอยู่กับความเคียดแค้นตนเอง สิ่งที่เขาแสดงออกคือให้อภัยอยู่ตลอดเวลา ไม่เคียดแค้นเพราะรับรู้ว่าทุกสิ่งอย่างคือความผิดของตนเอง ยึดมั่นในอุดมการณ์เป้าหมายของตนเอง เมื่อเลิกเป็นมาเฟียก็ต้องไม่หวนกลับไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งสิ่งที่เขาต้องจัดการก้าวข้ามผ่านให้ได้ คือตัวตนเองเท่านั้น ไม่ใช่การต่อสู้ดวลปืนกับใครผู้ใดเลย

และสำหรับเสี่ยวหม่า แม้จะมิได้เป็นผู้มีอุดมการณ์หนักแน่นชัดเจนแบบอาเห่า อยู่คนเดียวฉายเดี่ยวไม่ได้แถมขาเป๋อีก เลยต้องจำยอมเป็นหมาหัวเน่าคอยเช็ดกระจกรถรับเศษโปรยเงิน เมื่อเพื่อนออกจากคุกกลับมาพบเจอก็วาดฝันหวนคืนกลับสู่ความยิ่งใหญ่ แต่เมื่อถูกปฏิเสธยืนกรานว่าจะเลิกถาวร ก็ค่อยๆยินยอมคล้อยตาม ไม่เป็นไร อุดมการณ์เพื่อน มิตรภาพสำคัญกว่าตนเอง เจ็บแค่นี้ยังไม่ตายง่ายๆหรอก … นี่น่าจะคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวละครนี้กลายเป็นตำนานโลกไม่รู้ลืม

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ใน Hong Kong ทำเงินได้ HK$34.7 ล้านเหรียญ (=$4.8 ล้านเหรียญ) ทุบสถิติทำเงินสูงสุดเดิมของ My Lucky Stars (1985) นำแสดงโดย Sammo Hung กับ Jackie Chan [ที่ HK$30.7 ล้านเหรียญ] ก่อนถูกแซงได้โดย Armour of God (1987) นำแสดงโดย Jackie Chan

(ทศวรรษ 80s ใน Hong Kong ก็มีอยู่แค่ 3 คนนี้แหละครับที่ครองเมือง โจวเหวินฟะ เฉินหลง และหงจินเป่า)

สองภาคต่อของ A Better Tomorrow มิใช่ในความตั้งใจของผู้กำกับ John Woo แม้แต่น้อย
– A Better Tomorrow II (1987) เพื่อต้องการช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นอดีตตลกตกอับ Dean Shek ได้รับบทค้อนข้างเด่นเลย แถมยังเป็นจุดเริ่มต้นความบาดหมางของ  Woo กับฉีเคอะ เพราะความยาวฉบับตัดต่อแรก 2 ชั่วโมง 40 โดนตัดเหลือเพียง 104 นาทีเท่านั้น แต่ก็ยังทำเงินได้ HK$22.7 ล้านเหรียญ
– A Better Tomorrow III: Love & Death in Saigon (1989) เป็นฉีเคอะ ขโมยหนังเรื่องนี้จาก John Woo ย้อนกลับไปเล่าจุดเริ่มต้น Prequel ผลลัพท์ล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และรายรับน้อยสุดในสามภาค HK$18.4 ล้านเหรียญ

ถึง A Better Tomorrow จะเต็มไปด้วยความรุนแรงบ้าคลั่งระดับเดียวกัน The Wild Bunch (1969) แต่เพราะหนังมีข้อคิดอันดีที่สามารถเรียกน้ำตาในฉากไคลน์แม็กซ์ได้แบบคาดไม่ถึง ทำให้ไอ้ความสารเลวที่พบเห็นมาตลอดทั้งเรื่องพอแปรเปลี่ยนกลับมาเป็นดี เกิดเป็น Impact กระแทกกระทั้นจิตใจผู้ชมได้อย่างทรงพลังสุดๆเลย นี่คือเหตุผลที่ผมค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ นอกจากความเท่ห์เxยๆของโจวเหวินฟะ เป็นรองแค่ภาพลักษณ์เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้เท่านั้นแหละ

แนะนำกับคอหนัง Action Thriller, เกี่ยวกับ Gangster มาเฟีย ตำรวจ-อาชญากร, ชื่นชอบความรุนแรง ฆ่ากันตายโหดๆ เลือดสาด, นักตัดต่อภาพยนตร์ หลงใหลในไดเรคชั่นของผู้กำกับ John Woo และแฟนๆนักแสดง Chow Yun-fat, Ti Lung และ Leslie Cheung ไม่ควรพลาด