IMDB : tt0484090
คะแนน : 7
พิม อาศัยอยู่กับคนรักที่เกาหลี
ในงานวันเกิดของเธอ เพื่อนๆจัดงานปาร์ตี้เลี้ยงฉลองวันเกิด และ แน่นอน กิจกรรมสุดฮิตในปาร์ตี้คือ การดูหมอ
เพื่อนของเธออ่านไพ่ของเธอแล้วบอกเธอว่า เธอเองเป็นคนมีอะไรมักจะเก็บไว้ไม่พูดออกมา
ไพ่ทำนายทายทักว่า สิ่งที่เธอสูญเสียไปกำลังจะกลับมา
บางสิ่งที่เคยสัญญาไว้จะกลับมาทวงถาม
แล้วก็ตามมาด้วยข่าวร้ายที่ว่า แม่ของเธอเส้นเลือดในสมองแตก เธอจึงต้องรีบกลับเมืองไทยพร้อมกับคนรัก
และที่นั่น คำทำนายของไพ่ ก็กลายเป็นจริง เมื่อ คนดูและ วี - คนรักของเธอ จะได้ไปรู้จักกับอีกหนึ่งชีวิตที่เกิดมาเคียงคู่กับพิม นั่นคือ พลอย คู่แฝดสยาม ที่ พิมเล่าให้ฟังว่า เสียชีวิตจากการผ่าตัดแยกร่าง
ความสยองเริ่มต้นแต่บัดนั้น
และ ความเซ็งของผมก็เริ่มตามมา เพราะ ...
เป็นความผิดผม ที่ดันเคยไปอ่านเนื้อหาพล็อตใกล้เคียงประมาณนี้มาก่อนแล้ว ในนิยายสยองขวัญเกี่ยวกับแฝด(แต่ไม่สยาม) จาก หนังสือ โกธ คดีตัดข้อมือ ที่พูดถึง แฝดคนหนึ่งเข้าสวมรอยชีวิตอีกคนที่ตายไป หนังสือบรรยายให้เราเข้าใจผิดไปเป็นอีกคน ซึ่งทั้งสองคนนั้นมีบุคลิกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แถมตัวเองยังชอบดูหนังผี และ ชอบอ่านนิยายลึกลับเขย่าขวัญสยองขวัญกระตุกขวัญสะเทือนขวัญ ...ขวัญฯลฯ
ดังนั้น ถึงแม้ว่า ก่อนไปดูแฝด ผมพยายามจะไม่อ่านกระทู้ที่เล่าถึงหนังมาก และ ตั้งใจว่าจะไม่พยายามเดาเนื้อเรื่องแล้วก็ตาม แต่เพราะ ยุคสมัยที่หนังผีเฟื่องฟู และ พล็อตหนังผีถูกสร้างมาซ้ำๆหลายต่อหลายเรื่อง คนที่ชอบอ่านหรือชอบดูหนังแนวนี้บ่อยๆก็ย่อมจะ เดาเนื้อหาได้ แม้จะไม่ตั้งใจ
นอกจาก กรอบของหนังกับการเป็นเรื่องของ ฝาแฝด บีบให้เดาเนื้อเรื่องได้ง่ายแล้ว ตัว แฝด เองก็มีบทหนังที่ใจดีไปหน่อย จากการส่งคำใบ้มาถี่ๆเหลือเกิน และ คำใบ้ที่ให้มาเป็นจิ๊กซอว์ที่ประกบกันได้เร็วเกินไป (บุคลิกของนางเอกที่เพื่อนหมอดูทายไว้ ,แฝดสองคนที่นิสัยต่างกันชัดเจน , แว่นที่โผล่มาหลอกให้ตายใจ , บุคคลที่สามที่โผล่มารักใครคนหนึ่งและอีกคนเริ่มอิจฉา , แม่พยายามจะบอกความจริง , รอยเท้าและรอยผ่าตัดที่บอกความเป็น ซ้าย – ขวา ,จิตแพทย์ถามว่าในกระจกเธอเห็นใคร )
แต่ การเดาได้ มิได้หมายความว่า หนังไม่ดี เพียงแต่ สิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งคือ พล็อตของหนังเรื่องนี้ มีตาข่ายดักคนดูแค่ชั้นเดียว นั่นคือ ถ้าเดาได้เมื่อไหร่ ทุกอย่างในหนังสามารถอธิบายได้ทะลุปรุโปร่งจนจบ ไม่มีอะไรให้ท้าทายคนดูอีกเลยนอกจาก ฉากผีหลอก กันอย่างเดียว
จริงๆ ต้องชมความกล้า ที่ท้าทายคนดู ด้วยคำใบ้ตั้งแต่ตอนต้นๆ แต่หากผู้กำกับคิดจะใบ้ตั้งแต่ต้นเช่นนี้ หนังน่าจะมีปมประเด็นอะไรหลงเหลือไว้บ้าง เหมือนอย่าง The Prestige ที่ผู้กำกับ คริส โนแลน ก็ส่งคำใบ้ให้คนดูตลอดเวลา แต่ ถึงเราจะทายได้ ก็ใช่ว่า จะรู้ทุกอย่างของหนัง
เช่นเดียวกันกับ ชัตเตอร์ หรือ ตู้ซ่อนผี ที่แม้ว่าจะเดาได้หนึ่ง แต่หนังก็ยังมีประเด็นซุกซ่อนอีกหนึ่งให้เซอร์ไพรส์ เหมือนมี 2 twist บิดหักมุมให้อึ้งและหลอนทิ้งทวนก่อนเดินออกจากโรงหนัง หรือ หนังบางเรื่อง ไม่ได้เน้นการหักมุมอย่าง Ringu ก็ยังมีประเด็นที่แอบไว้ให้ประหลาดใจตามรายทาง และ น่าติดตามไปสู่จุดหมายตอนท้าย ด้วยอยากรู้บทลงเอยว่าจะเป็นเช่นไร หรือ One missed call หนังผีโคตรน่ากลัวที่ใส่ประเด็นจิตวิทยาจนดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ดูจบ เราก็ยังมีอะไรให้ต้องมาตีความ เช่นเดียวกับ เปนชู้กับผี ก็ยังมีอะไร ให้เซอร์ไพรส์มีประเด็นให้ขบคิดมาถกกันต่อ ว่าใครเป็นหรือไม่เป็นผี
...ถึงแม้ผมจะบ่นผิดหวังในพล็อตเรื่อง แต่ผมชอบ บทที่เล่นกับ "ความเป็นฝาแฝด" ให้เราได้เข้าใจว่า
ทำไม พลอย ต้องมาเป็น พิม
...ชีวิตของพิมและพลอย มีความทุกข์ภาคบังคับ ที่แตกต่างจากคนทั่วไป เป็นความทุกข์ที่เหมือนกับ นกในกรงใหญ่ ซึ่งดูเหมือนจะมีอิสระ แต่อิสระก็มีขอบเขตอยู่แค่ภายในกรง หากอยากจะไปไหนได้ไกลกว่านั้น ก็จำต้องพึ่งคนเลี้ยงให้ยกกรงพามันไป
...พิมกับพลอยก็เช่นกัน ชีวิตที่แม้จะมีอิสระเสรี แต่มันก็มีขอบเขต
พิม เจออะไร พลอยต้องเจอด้วย
พิม ชอบอะไร พลอยต้องรับรู้ด้วย
พิม อยากไปไหน พลอยต้องไปด้วย
พิมตาย พลอยก็ต้องตายตาม (ด้วยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ ยิ่งถ้าใช้อวัยวะสำคัญร่วมกันยิ่งตายเร็วขึ้น)
ดังนั้น ถ้าใครคนใดคนหนึ่ง ไม่อนุญาติ ไม่ยอมเดินตาม อีกฝ่ายก็หมดสิทธิจะทำอะไรดั่งใจคิด
เราก็จะเห็นว่า การเป็นแฝดสยาม สิ่งที่ต้องสูญเสียคือ การมีชีวิตเป็นของตัวเอง
...โดยธรรมชาติ ตามทฤษฎีทางจิตวิทยา เด็กทุกคนเมื่อโตขึ้นจะต้องผ่านช่วงพัฒนาการที่เรียกว่า autonomy คือความอยากเป็นตัวของตัวเอง และ ความต้องการมีอิสระ( independence ) เด็กเริ่มที่จะแยกจากพ่อแม่โดยพ่อแม่ไม่ต้องตามติดตลอดเวลา เริ่มมีชีวิตส่วนตัว เมื่อผ่านช่วงนี้ไปได้ เด็กก็จะเติบโตเป็นวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
แต่พิมและพลอย จะโตเพียงใด ก็ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ดังนั้น เชื่อเลยว่า แฝดสยามทุกคู่แม้จะรักกันมากเพียงใด อย่างน้อยในเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ก็ย่อมไม่อาจหลบเลี่ยงความรู้สึกที่ผุดแวบขึ้นมากับการ ‘อยากเป็นอิสระ’
ยิ่งมาเกิดเหตุการณ์แบบในหนัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ พิม จะประกาศออกมาชัดเจนถึงความรู้สึกไม่ต้องการอีกฝ่าย ซึ่งแท้จริงแล้ว ในตอนนั้นมันก็อาจเป็นแค่ คำตัดพ้อของเธอเท่านั้นไม่ได้คิดตัดอีกฝ่ายออกไปจริงจัง
แต่คำตัดพ้อนั้น กลับเป็นชนวนเริ่มต้นไปสู่จุดแตกหัก
จุดแตกหักที่ทำให้สองตัวละครต้องแยกจากกัน ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นแค่เรื่องของผู้ชาย แต่หากมองเข้าไปภายในจิตใจจะพบ ปัจจัยสำคัญจริงๆ นั่นคือ ความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง (low self esteem & self worth) ความรู้สึกนี้เองที่เป็นบ่อเกิดเริ่มต้น ที่ทำให้ เธอเริ่มกินยาฆ่าตัวตาย ก่อนจะไปสิ้นสุดที่การทำร้ายพิม
...จากการที่ทั้งสองถือกำเนิดมาจากไข่ใบเดียวกัน แทบทุกอย่างล้วนเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว แต่ เมื่อ พิม คือคนที่ถูกเลือก หากเราเป็นพลอย ย่อมอดน้อยเนื้อต่ำใจไม่ได้ ที่ตัวเองนั้นไม่ใช่คนที่ถูกรัก ไม่ใช่คนที่ถูกเลือก
..เราจะเห็นความรู้สึกที่ขัดแย้ง(ambivalence)เกิดขึ้นพร้อมๆกันในตัวพลอย
หนึ่ง คือ อิจฉา รู้สึกโกรธที่เธอเป็นคนไม่ถูกเลือก ทั้งที่ ทุกสิ่งก็เหมือนๆกัน เกิดความรู้สึกแข่งขันอย่างรุนแรง (sibling rivalry)
สอง คือ โหยหาและสูญเสีย เพราะ แฝดของเธอกำลังจะถ่ายเทความรักความห่วงใยไปให้อีกคน
...ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อเป็นแฝดตัวติดกันเช่นนี้ ก็เหมือนกับได้แต่ขังตัวเองในกรงแห่งความทุกข์ พลอยต้องทนเห็นพิมได้รับความรักความเอาใจใส่ ต้องเห็นพิมแบ่งเวลาให้น้อยลง อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า นี่คือ ความทุกข์ภาคบังคับของการเป็นแฝดสยาม
และนั่นคือจุดเริ่มต้น ของการเหลือคนเพียงคนเดียว จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อฝรั่งของหนังเรื่อง แฝด ไม่ใช่ twin แต่เป็น alone เพราะ จาก สอง สุดท้ายเหลือเพียง หนึ่ง
มิใช่แค่นั้น alone ยังน่าจะเป็นคำแทนความรู้สึกกลัวลึกๆภายในใจพลอย ความกลัวที่จะต้องโดดเดี่ยวเพียงลำพัง แม้จะตัวติดกันกับพิม
น่าเศร้าใจ ที่ ความกลัวต่อความโดดเดี่ยวของพลอย กับ ความโกรธปนอิจฉา ทำให้เธอเลือกวิธีที่พาไปสู่โศกนาฏกรรม อันไม่อาจเปลี่ยนแปลงกลับคืน และ พาเธอไปพบความโดดเดี่ยวที่แท้จริง
เมื่อสุดท้าย ใครต่อใคร ก็เดินออกจากชีวิตเธอ
จากที่เกริ่นไว้ในตอนต้นแล้วว่า
ถ้าพลอยได้หันกลับมามองตัวเองให้ดีๆ เธอจะรู้ว่า พลอย ไม่จำเป็นต้องเป็นพิมเลย
มีประโยคน่าสนใจในหนัง
ตอนที่พลอยถามวีว่า คนมันแทนที่กันไม่ได้ใช่หรือไม่ หมาตัวเก่าตายไปเธออุตส่าห์ซื้อตัวใหม่ที่เหมือนกันใช้ชื่อเดียวกัน มันก็แทนไม่ได้เชียวหรือ แล้วที่อยู่ๆกันมา วี นั้นชอบใคร เพราะเธอก็ทำดีที่สุดแล้ว
...จุดนี้เอง ถ้าพลอยหยุดมอง พลอยก็จะเห็น ว่า พลอย ไม่จำเป็นต้องเป็นพิมเลย
ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เธออยู่กับวี พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เธอเปลี่ยนแค่ภาพลักษณ์ภายนอกให้เป็นพิม แต่นิสัยเธอก็เป็นเช่นเธอ ด้วยตัวตนภายในที่เธอเป็น วีก็มีความสุขเมื่ออยู่กับเธอ
พลอย มีดีไม่แพ้ พิม เพียงแต่ การที่ พลอย ไม่ถูกเลือก ไม่ได้แปลว่า พลอย ไม่ดี เพียงแต่ วี มองไม่เห็นคุณค่าที่อยู่ในตัวของพลอย
เรา มีดีไม่แพ้คนอื่น แต่ การที่ ใครบางคนไม่เลือกเรา ไม่ได้แปลว่า เราไม่ดีเราด้อยค่า แต่คนอื่นไม่เห็นคุณค่าของเราต่างหาก
...พลอย เหมือน หลายๆชีวิต ที่คิดอยากเป็นเหมือนคนอื่น พยายามจะเป็นคนอื่น แต่กลับไม่เคยมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และ เมื่อถูกบอกเลิก หรือ ถูกทิ้ง ก็คิดฆ่าตัวตายหรือตามไปราวีอีกฝ่ายให้สาแก่ใจ
เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเข้าใจว่า ตัวเองไม่ดี ไม่มีค่า เขาจึงไม่เลือกเรา ทั้งที่ความจริงแล้ว การที่เขาไม่เลือกเรา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ คุณค่าในตัวเรา เลย
เราเองที่ไปยกให้คนอื่นมาตัดสินคุณค่าในตัวเอง
...การเข้าไปสวมชีวิตของพิม ยิ่งสะท้อน ความรู้สึกด้อยค่าในตัวเองของพลอยอย่างมาก แต่ ในอีกนัยหนึ่ง ภายในจิตใต้สำนึก การแปรสภาพเป็นพิม มันก็อาจเป็น การที่จะได้กลับมารวมกัน(reunion)อีกครั้งระหว่างเธอและพิม แต่สุดท้าย แล้วมันก็คงเป็นเหมือนกรรม ที่กำหนดให้ คนสองคนเกิดมาร่วมกัน และ เมื่อตายไปก็จำต้องชดใช้กรรมร่วมกันตลอดไป