ค้นหาหนัง

Apocalypto

Apocalypto
เรื่องย่อ : Apocalypto

กลุ่มชนเผ่าหนึ่งที่กำลังล่าสัตว์อยู่ในป่าลึก พวกเขาได้พบชนเผ่าหนึ่งที่เดินทางผ่านมา ชนเผ่านั้นแสดงสีหน้าแห่งความหวาดกลัวบอกว่าแผ่นดินของพวกเขาถูกทำลายต้องหาที่อยู่ใหม่ แล้วพวกนั้นก็เดินทางผ่านไป เช้าวันรุ่งขึ้น มีชนเผ่ากลุ่มหนึ่งเข้ามารุกรานในหมู่บ้านเขา จับคนที่รอดไปเป็นทาสสร้างวิหารของชาวมายา จับไปเป็นทาส และจับไปบูชายัญ

IMDB : tt0472043

คะแนน : 10



เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ในการเขียนถึงหนังเรื่อง Apocalypto ผมจำต้องบอกความรู้สึกส่วนตัวก่อนว่า นี่เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ผมประเมินคุณค่าด้วยคำสองคำคือ “ดี” “เลว” ไม่ได้โดยสิ้นเชิง และการรับชมหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ ถือเป็นประสบการณ์อันแสนสาหัส จนถึงขั้นคิดอะไรไม่ออก และการจะดูซ้ำ (เพื่อการเขียนวิเคราะห์วิจารณ์) ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่กล้าทำ

Apocalypto ดุเดือดและรุนแรงกว่าหนังที่ผมคิดว่าหนักหนาแล้วอย่างหนังของ ทากาชิ มิอิเกะ หลายเท่าตัวนัก ก่อนหน้านี้คนดูกล่าวขวัญถึงความรุนแรงในหนังเรื่อง The Passion of the Christ (2004) ของเมล กิบสัน กันอย่างหนาหู แต่สำหรับ Apocalypto ไปไกลกว่าหลายช่วงตัว

อย่างน้อยๆ ใน The Passion of the Christ เราก็รู้ว่าชะตากรรมของพระเยซูจะจบลงเช่นไร แต่เราจะไม่มีโอกาสทำอย่างนั้นกับ Apocalypto ชะตากรรมของตัวละครไหลคู่คนดูซึ่งคล้ายกับผูกติดกับเส้นด้ายเบาๆ ที่ลอยไปตามลม จนถึงขนาดที่ว่าคาดเดาอะไรไม่ได้ ฉะนั้นสำหรับผู้ที่แสวงหาความตื่นเต้นในการชมภาพยนตร์ ควรหยุดอ่านเสียแต่บรรทัดนี้

Apocalypto ตอบทุกข้อสงสัยในความสามารถในการทำหนังของเมล กิบสันจนหมดสิ้น มันเป็นการประกาศว่า ออสการ์ที่ได้มาจาก Braveheart นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเส้นสายในวงการบันเทิง

ทราบกันดีแล้วว่าฉากหลังของ Apocalypto คือยุคอารยธรรมมายา (ช่วงคริสตศักราชที่ 250 – 900 พื้นที่บริเวณต้อนใต้ของเม็กซิโก) ก่อนที่จะเสื่อมสลายลงส่วนหนึ่งเพราะตัวของมันเอง และการรุกรากจากสเปนในช่วงท้ายอารยธรรม

เมล กิบสันให้ตัวละครทุกตัวพูดภาษามายา รูปลักษณ์ภายนอกดูแตกต่างจากคนที่เราเห็นๆ กันในชีวิตประจำวัน ดูไป 10 นาทีเราก็หลุดไปอยู่ในโลกที่พ้นสมัยทันที

ตัวละครเอกของเรื่องของชายหนุ่มที่ชื่อ จากัวร์ พาว ที่เพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง ตั้งแต่ฝีมือในการล่าสัตว์ การต่อสู้ และรูปร่างหน้าตา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนและตัวจากัวร์เองก็รู้ดี คือเขาเป็นคนขี้ขลาด หวาดระแวง แม้ภายนอกจะดูเป็นชายชาตรี แต่ลึกๆ แล้วชายหนุ่มยังคงหวาดกลัวอะไรบางอย่าง

บททดสอบมาถึงพร้อมกับกลุ่มชายฉกรรจ์ที่มารุกรานหมู่บ้าน พวกนั้นจับทั้งผู้หญิงและผู้ชายไปเป็นเชลย เหลือไว้แค่เด็กเล็กๆ ให้หากินกันเอาเอง ขนาดเก่งกาจอย่างจากัวร์ก็ไม่สามารถต้านทานอันธพาลเหล่านี้ได้

องก์แรกของหนังเป็นการปูพื้นเรื่องราวของจากัวร์และพรรคพวกอย่างคร่าวๆ ก่อนจะลงท้ายด้วยฉากการต่อสู้ที่ลงท้ายด้วยการพ่ายแพ้ของคนในหมู่บ้าน กิบสันและผู้กำกับภาพ ดีน เซมเลอร์ เลือกใช้กล้องดิจิตอลความละเอียดสูงในการถ่ายภาพ ให้ออกมามีสปีดที่สมจริง และภาพสีเขียวของใบไม้กับสีแดงของเลือด ตัดกันอย่างชัดเจน

ส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและการทำงานหนักคือการเลือกโลเกชั่นในป่าดิบชื้นจริงๆ หนังเปิดโอกาสให้คนดูได้เห็นภูมิทัศน์หลายหลาก ทั้งป่าทึบ ผาสูง หรือแม่น้ำเชี่ยวกราก พร้อมๆ กับที่เผยให้ตัวละครได้รับรู้ถึงความเสื่อมโทรมของความศิวิไลซ์ ตั้งแต่การซื้อขายทาส การใช้แรงงานอย่างกดขี่ โรคระบาด และที่สาหัสที่สุด คือช่วงกลางของเรื่อง – การสังเวยชีวิตมนุษย์ราวกับมันไม่มีค่า

หนังใช้เวลาช่วงนี้เฉลยถึงสาเหตุที่จากัวร์และพรรคพวกถูกจับตัวมา ผู้หญิงถูกขายเป็นทาสในราคาถูก ส่วนผู้ชายถูกนำไปให้กษัตริย์เซ่นสังเวยเทพเจ้า กิบสันปล่อยเวลาให้ดูราวกับว่านานนับชั่วโมงในฉากแท่นประหารนี้ แจกแจงการบูชายัญอย่างละเอียด ตั้งแต่การตัดคอ ควักหัวใจ หัวกลิ้งลงมาสู่พื้นดิน ฯลฯ

ก่อนหน้านี้ช่วงตอนเปิดเรื่องมีบางสิ่งที่คนดูอาจหลงลืมไป มันเป็นเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มของจากัวร์ที่เป็นพวกขี้แพ้ และเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่นๆ ฉากแรกเมื่อเพื่อนๆ แบ่งเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ เพื่อนคนนี้ก็ได้ในส่วนอัณฑะ อีกครั้งหนึ่งเขาโดนหลอกเกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้ทาบริเวณอวัยวะเพศเพื่อการทำบุตร แต่กลับเป็นพืชเผ็ดร้อนที่ทาแล้วต้องรีบแจ้นลงน้ำ

การเห็นคนอื่นเป็นตัวตลก หรือเห็นคนอื่นเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าตนเอง เป็นสันดานที่มนุษย์มีกันทุกคน มันส่อให้เห็นว่า เราไม่เคยแม้แต่จะเห็นค่าคนอื่น เรามักนึกถึงตัวเราเองก่อนเสมอ

ช่วงท้ายจากัวร์หนีการจับกุมจากเหล่าพรานป่า ไม่ต่างจากหมูที่โดนล่าในตอนแรก เหมือนหนังเวียนฉายซ้ำวนไปเรื่อยๆ และมันก็ยิ่งชัดขึ้นไปอีก เมื่อเรื่องจบลงในทำนองเดียวกับนิยายเรื่อง Lord of the Flies ของ วิลเลียม โกลดิง – คือผู้มาใหม่เป็นคนยุติทุกสิ่ง

ใน Lord of the Flies เด็กๆ ที่ติดเกาะร้างพยายามแบ่งขั้วอำนาจและไล่ฆ่ากันเอง จนกระทั่ง “ผู้ใหญ่” คนหนึ่งก้าวขึ้นมาบนเกาะพอดี สำหรับ Apocalypto เป็นนักเดินเรือชาวยุโรป ซึ่งถ้าเรียงตามลำดับห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศน์แล้ว คนพวกนี้จะอยู่บนสุด

เมล กิบสันคงเป็นคนประเภทต่อต้านความรุนแรงด้วยความรุนแรง นอกเหนือจากงานด้านภาพที่ดูสาหัสแล้ว บทภาพยนตร์ซึ่งกิบสันเขียนร่วมกับ ฟาร์ฮาร์ด ซาฟิเนีย ยังเสียดสีความไร้สาระของมนุษย์ได้เจ็บและตรง

มันแทบจะกลายเป็นพิมพ์เขียวของปัญหาทุกปัญหาบนโลกใบนี้ มนุษย์เข่นฆ่ากันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนกลายเป็นวงจรปลาใหญ่กินปลาเล็กไม่มีวันจบสิ้น

อย่างที่ตระหนักกันดีว่า อารยธรรมมายาไม่ได้ล่มสลายลงเพียงเพราะการรุกรานจากยุโรปเท่านั้น ส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนใหญ่ คือ การเน่าฟอนเฟะจากข้างในเอง

พลังของ Apocalypto และประเด็นที่มันพูด ทำให้ผมต้องจับมันไปรวมไว้กับกับ A History of Violence ของ เดวิด โครเนนเบิร์ก และ Munich ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ทั้งสามเรื่องนี้พูดถึงปัญหาความรุนแรงได้ตรง แยบยล และเต็มไปด้วยชั้นเชิง

ทำให้ผมนึกสงสัยว่า เหตุใดจึงมีแต่คนทำหนังที่เข้าใจ และเพราะอะไรคนที่มีอำนาจจัดการโดยตรงในโลกนี้ กลับไม่รู้ และตรัสรู้อะไรไม่ได้เลย