ค้นหาหนัง

Babel

หมวดหมู่ : หนังดราม่า
Babel
เรื่องย่อ : Babel

ใน BABEL อุบัติเหตุที่เป็นโศกนาฏกรรมที่เกี่ยวพันกับคู่สามีภรรยาชาวอเมริกันในโมร็อคโค ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องกับอีกสี่ครอบครัวในประเทศต่างๆ กันทั่วโลก แม้จะเกี่ยวพันกันโดยสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่กลับถูกแยกให้ห่างกันโดยทวีป, วัฒนธรรม และภาษา ตัวละครแต่ละตัวพบว่าสุดท้ายแล้ว มันก็คือครอบครัวที่ช่วยปลอบประโลมใจ ในดินแดนทะเลทรายอันห่างไกลของโมร็อคโค กระสุนปืนไรเฟิลหนึ่งนัดดังขึ้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นลูกโซ่ที่เชื่อมโยงเรื่องราวการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของคู่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน, เด็กชายชาวโมร็อคโคสองคนที่ข้องเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ, พี่เลี้ยงเด็กที่ข้ามชายแดนเข้าสู่เม็กซิโกอย่างผิดกฎหมายพร้อมเด็กชาวอเมริกันสองคน และวัยรุ่นหัวรั้นชาวญี่ปุ่นที่เป็นใบ้ ซึ่งตำรวจในโตเกียวกำลังตามหาตัวพ่อของเธออยู่ แม้จะแยกห่างจากกันอันเนื่องจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและระยะห่างของตำแหน่งที่อยู่ แต่คนทั้งสี่กลุ่มต่างมุ่งหน้าสู่จุดหมายแห่งความโดดเดี่ยวและความเศร้าร่วมกัน ในช่วงเวลาเพียงสองสามวัน พวกเขาต่างต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกของการสูญเสียอย่างลึกซึ้ง การหลงทางในทะเลทราย การหลงทางอยู่ในโลก และการหลงทางในตัวเอง เมื่อพวกเขาถูกผลักดันให้ก้าวเดินไปสู่สุดเส้นทางของความสับสนและความหวาดกลัว รวมไปถึงสู่ความลึกซึ้งของความผูกพันและความรัก

IMDB : tt0449467

คะแนน : 9



"หนึ่งใน" ความหมายที่ Babel พยายามจะบอกกับคนดูก็คือทุกๆ กิริยาจะนำมาซึ่งปฏิกิริยา เพียงแต่ว่าคุณจะหันหลังกลับไปดู และระลึกถึงมันหรือเปล่า

ปืนสำหรับบางคนคือของสะสม เป็นอุปกรณ์กีฬา
กับบางคนคือสินค้า เอาไว้ค้าขาย
บ้างเอาไว้ป้องกันอันตราย

แต่สุดท้าย...จุดประสงค์ของมันคือมีไว้ฆ่าคน

ชายญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ทั้งเก็บปืนเอาไว้ในบ้าน และมอบมันให้คนแปลกหน้า จะรู้ไหมว่ามันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตอีกหลายชีวิต(ทั้งดีขึ้นและเลวลง)ไปมากแค่ไหน

(ที่เน้นว่า "หนึ่งใน" เพราะหนังเรื่องนี้ได้ทิ้งความหมาย,คำถามและสัญญะไว้กับคนดูมากมายเหลือคณานับ)

Babel อาชญากรรม/ความหวัง/การสูญเสีย

เบเบล เป็นชื่อหอคอยสูงใหญ่ในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อจะไปให้ถึงสวรรค์ ซึ่งทำให้พระเจ้าทรงโกรธมาก และสาปให้มนุษย์บนโลกมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน พวกมนุษย์ที่กำลังสับสนและไม่สามารถเข้าใจกันได้จึงกระจัดกระจายไปทุกมุมโลก

Babel ผลงานกำกับเรื่องที่ 3 ของ อเลฮันโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู ยอดผู้กำกับเลือดจังโก้ที่มาแรงที่สุดในโลกภาพยนตร์ หลังจากเปิดตัวให้กับแฟนหนังทั่วโลกได้รู้จักเขาเป็นอย่างดีด้วยผลงานเรื่องที่ 2 อย่าง 21 Gram ไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน
จำได้ว่าตอนที่ดู 21 Gram ครั้งแรก ช่วงแรกๆ ของเรื่องนี่มึนสุดๆ (เพราะหนังจงใจให้เป็นอย่างนั้น) แต่พอจับทางได้แล้ว ต้องยอมรับว่าทึ่งในฝีมือการเล่าเรื่องของผู้กำกับรายนี้มาก ถ้าเอาบทไม่อยู่จริงๆ คงยากที่จะถ่ายทอดด้วยวิธีการเล่าย้อนไปย้อนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างนั้น จนรู้สึกว่าพอเนื้อเรื่องมาคลายปมในช่วงท้ายนั้น ความเข้มข้นของมันเทียบไม่ได้กับความซับซ้อนที่ใส่มาในช่วงต้นของหนังเลย (21 กรัม คือจำนวนน้ำหนักที่หายไปทันทีของผู้ที่เสียชีวิตทุกคน ที่ยังหาคำตอบทางการแพทย์ไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร บ้างก็ว่ามันคือมวลของ 'วิญญาณ' ที่ออกจากร่างของผู้ตาย...ชื่อหนังของแกแต่ละเรื่องนี่เอาเรื่องดีจริงๆ)

ตรงนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจริงๆ

จะว่าเนื้อเรื่องนี้ได้มาจากแนวคิดน้ำผึ้งหยดเดียว หรือเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวก็ว่ากันไป แต่ความหมายที่ซ้อนเร้นอยู่ในหนังนั้นลึกซึ้งกว่านั้นมากมายนัก

เนื้อเรื่องคราวๆ เริ่มขึ้นในดินแดนทะเลทรายอันห่างไกลของโมร็อคโค กระสุนปืนไรเฟิลหนึ่งนัดดังขึ้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นลูกโซ่ที่เชื่อมโยงเรื่องราวการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของคู่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน, เด็กชายชาวโมร็อคโคสองคนที่ข้องเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ, พี่เลี้ยงเด็กที่ข้ามชายแดนเข้าสู่เม็กซิโกอย่างผิดกฎหมายพร้อมเด็กชาวอเมริกันสองคน และวัยรุ่นหัวรั้นชาวญี่ปุ่นที่เป็นใบ้ ซึ่งตำรวจในโตเกียวกำลังตามหาตัวพ่อของเธออยู่ แม้จะแยกห่างจากกันอันเนื่องจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและระยะห่างของตำแหน่งที่อยู่ แต่คนทั้งสี่กลุ่มต่างมุ่งหน้าสู่จุดหมายแห่งความโดดเดี่ยวและความเศร้าร่วมกัน

จริงๆ แล้ว การดำเนินเรื่องแบบนี้มีให้เห็นมาแล้วทั้งใน Love Actually หรือ Crash หนังออสการ์ปีก่อน ที่เป็นเหมือนแสงและเงาของกันและกัน ขณะที่เรื่องแรกใช้ธีมของ 'ความรัก' ในการผูกเรื่อง เรื่องหลังก็ใช้ 'ความแค้น' ในการเชื่อมโยงตัวละครต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
แต่สิ่งที่ Babel ใช้มานำเสนอนั้น แม้จะจับต้องได้ยากกว่า แต่ลึกซึ้งกว่าด้วยแนวคิดเรื่อง "ความทุกข์อันเป็นสากล"

ในปัจจุบันที่โลกไร้พรมแดนเข้าไปทุกขณะ แต่โลกภาพยนตร์การเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมยังคงเป็นสิ่งใหม่ ซึ่ง Babel นั้นโดดเด่นมากในการนำสิ่งนี้มานำเสนอโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตีความจากวัฒนธรรมอื่น เนื้อเรื่องแต่ละส่วนสามารถเล่าเรื่องราวของตัวมันเองได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ได้อย่างแนบเนียน

การให้ความสำคัญกับการดำเนินเรื่องของ 4 ฉากหลักๆ ได้รับการปูเรื่องราวจนมีความน่าสนใจเท่าเทียมกัน แทบจะแยกไม่ออกว่าเรื่องราวของใครโดดเด่นกว่าของใคร มันยอดเยี่ยมชนิดที่ว่าระหว่างที่เราหงุดหงิดเนื่องจากหนังมาสลับฉากเอาตอนที่เราดูฉากนั้นสนุกๆ อยู่ เราก็หงุดหงิดอีกครั้งเมื่อฉากนั้นกลับมา เพราะอยากดูฉากก่อนหน้าที่ตัดไปว่ามันจะจบลงยังไง

หนังไทยเรื่องเยี่ยมอย่าง เพื่อนสนิท นั้นใช้วิธีการเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่าง 'อดีตกาล' และ 'ปัจจุบันกาล' ไปพร้อมๆ กัน จนมาบรรจบในไคลแม็กซ์ของเรื่อง แต่ 4 เหตุการณ์ใน Babel จะใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนกว่า จนไม่สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ได้จนกว่าจะดูจนจบ ซึ่งทำให้มันโดดเด่นอย่างประหลาด โดยเฉพาะฉากที่แบรด พิตต์โทรหาลูกๆ ที่ถูกใช้ในหนัง 2 ครั้งและผลที่ออกมาก็คือการถ่ายทอดอารมณ์ 2 รูปแบบที่สะเทือนอารมณ์มากๆ
ในส่วนของการแสดงนั้น ขอออกตัวว่าชอบทีมนักแสดงที่ไม่ใช่นักแสดงของชาวพื้นเมืองโมร็อกโคที่สุด ที่อินาร์ริตูตัดสินใจไม่ใช้นักแสดงอาชีพเพื่อความสมจริง และสิ่งที่ปรากฎออกมาในจอนั้นก็สมจริงจนสะเทือนอารมณ์ โดยเฉพาะที่ผู้เป็นพ่อต้องเผชิญกับการสูญเสียศรัทธาในครอบครัวของเขาเอง ทั้งจากเรื่องราวภายนอก(ปืน)และภายในครอบครัว(การขาดการดูแลเพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัว)

แต่ถ้าดูที่ตัวบุคคลแล้ว ผู้ที่โดดเด่นอย่างไม่น่าเชื่อได้แก่ ริงโกะ คิคูจิ ในบทสาวหูหนวกเป็นใบ ที่ใช้ร่างกายแสดงหาความรักจากเพื่อนมนุษย์ที่เธอ 'กระหาย' เหลือเกินตั้งแต่สูญเสียแม่ของเธอไป คิคูจิถ่ายทอดอารมณ์ทุกอย่างที่ตัวละครตัวนี้ต้องการได้อย่างสมบูรณ์แบบ และแน่นอนว่ายิ่งกว่าการแสดงที่จะทำให้ เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน จาก Dreamgirls คว้าออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบหญิงเป็นไหนๆ ตัวละครของฮัดสันนั้นดื้อแบบหัวรั้น แต่ของคิคูจินั้นดื้อแบบมีปม ที่ทับกันหลายปม แล้วไม่ใช่ว่าใครจะถ่ายทอดได้อย่างถึงอารมณ์อย่างที่เธอทำ ขณะที่ฮัดสันใช้เสียงอันมหัศจรรย์ของเธอสื่อสารกับคนดู คิคูจิใช้ทุกอย่างนอกเหนือจากนั้นในการชนะใจคนดู

หนังที่ดีนั้นต้องทิ้งอะไรแก่ผู้ชมให้เอากลับไปถึงที่บ้าน ขณะที่หนังหลายเรื่องได้ทิ้งไว้แต่คำด่าทอ สาปแช่งจากคนดู แต่ Babel แค่เรื่องเดียวได้ทิ้งคำถามไว้ทั้งทางด้านสังคม, การเมือง และจริยธรรมอย่างอันมากมาย


ยอมรับว่าแต่แรกไม่คิดว่า Babel จะยอดเยี่ยมเท่านี้ ทั้งสัญญะที่ถูกนำมาใช้ในหนังตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะฉากสุดท้ายที่จบลงในที่สูง อันแสดงถึงสัญญะที่เป็นที่มาของชื่อเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม ก็มากพอจะทำให้มันเป็นตัวเต็งออสการ์ปีนี้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งแล้ว
ส่วนความหวังด้านรางวัลออสการ์นั้น หลังจากเป็นหนังที่มีความหวังที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากที่สุดที่ 7 สาขา (Dreamgirls ชิง 8 แต่ไม่ได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยม) คู่แข่งของเรื่องนี้ก็ดูจะมีแต่หนังที่ใหญ่กว่าอย่าง The Departed และหนังที่เล็กกว่าอย่าง Little Miss Sunshine

The Departed นั้นทำท่าจะคว้ารางวัลด้านผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองแล้ว เพราะปีนี้มาร์ติน สกอร์เซซีที่พลาดหวังมาตลอดดูจะแรงไม่ตก ซึ่งแม้อินาร์ริตูจะยอดเยี่ยมเพียงไรก็คงต้องหลีกทางให้เพราะชั่วโมงบินน้อยกว่าหลายขุม และยังมีเวลารอเขาอีกเยอะ ขณะที่ถ้า The Departed ได้รางวัลด้านการกำกับ เปอร์เซ็นต์ในการคว้าหนังยอดเยี่ยมก็คงจะน้อยลงไป ในปีที่มีการแข่งขันกันสูสีเช่นนี้

ที่น่าจับตามากกว่ามาได้แก่ Little Miss Sunshine ที่คว้ารางวัลสำคัญๆ ในช่วงหลังมากมาย และแรงดีจนน่าจะคว้ารางวัลใหญ่ของออสการ์ไปครองได้ แต่ความจริงที่ว่ารางวัลด้านผู้กำกับ ซึ่งมักจะแถมมาเป็นรางวัลหนังยอดเยี่ยม แต่เรื่องนี้ไม่ได้เข้าชิง น้ำหนักตรงนี้ก็เลยดูเบาลงไป

Babel ที่อยู่ตรงกลางถือว่ามีโอกาสสูง ในกรณีที่ถ้าเกิดคณะกรรมการอยากจะฟันธงให้รางวัลใหญ่ทั้งสองเป็นของหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งเต็มๆ ไปเลย Babel ก็มีคุณสมบัติพอที่จะรับเกียรติอันนี้อยู่แล้ว

ถึงจุดนี้จึงไม่สำคัญแล้วว่า Babel จะได้ออสการ์หรือไม่ น่าสนใจเพียงแต่ว่าออสการ์อยากจะได้หนังเยื่อมๆ อย่างนี้ไปเสริมบารมีของตนหรือเปล่า

Babel นับเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบด้านความประณีต แต่ยังเป็นหนังที่มีพลังในการเล่าเรื่องอันเป็นสากล ที่ไม่ว่าใครๆ ที่มาจากวัฒนธรรมไหน หรือมีพื้นเพอย่างไรก็ดูเข้าใจได้ ดังเจตนารมณ์ในการสร้างหนังเรื่องนี้ของอินาร์ริตูที่กล่าวไว้อย่างยอดเยี่ยมว่า

"เราพูดถึงพรมแดนในฐานะที่เป็นสถานที่ ไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิด ผมเชื่อว่าพรมแดนที่แท้จริงคือพรมแดนที่อยู่ในตัวของพวกเรา"