ค้นหาหนัง

Britney vs. Spears บริทนีย์ vs สเปียร์ส

Britney vs. Spears | บริทนีย์ vs สเปียร์ส
เรื่องย่อ : Britney vs. Spears บริทนีย์ vs สเปียร์ส

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสารคดีเรื่องนี้จะพาเราไปพบกับเรื่องราวในชีวิตนักร้องสาว บริตนีย์ สเปียร์ส ที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางความทุกข์ทรมานจากการถูกริดรอนอิสรภาพจากพ่อแท้ ๆ ของเธอที่ร้องขอต่อศาลเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ตามคำสั่งของศาล

IMDB : tt15469820

คะแนน : 6



ชื่อภาพยนตร์สารคดี “Britney vs Spears” ที่ปล่อยสตรีมมิ่งให้รับชมทาง Netflix ตั้งได้แยบคาย เพราะมันทั้งสะท้อนให้เห็นถึง “ความแตกหัก” พร้อมๆ กับ “ตัวตนและชีวิต” ของ “บริตนีย์ สเปียร์ส” ที่ถูกกลืนหายไปด้วยฝีมือคนใกล้ตัวอย่างผู้เป็นพ่อนั่นเอง

สารคดีเรื่องนี้ฉายภาพให้เห็น บริตนีย์ สเปียร์ส ศิลปินซุปเปอร์สตาร์ที่แจ้งเกิดระดับโลกตั้งแต่อายุ 16 ปี โลดแล่นบนเส้นทางสายดนตรีจนปัจจุบันเธอเพิ่งจะอายุครบ 40 ปี ไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา และในวัยย่างเข้าเลข 4 บริตนีย์ สเปียร์ส ได้รับของขวัญครบรอบวันเกิดคือ “อิสรภาพ” หลังจากที่ 13 ปีที่ผ่านมา เธอต้องใช้ชีวิตภายใต้การถูกควบคุม ทั้งเรื่องการทำงาน การตัดสินใจต่างๆ เนื่องมาจากการถูกยื่นคำร้องจากพ่อของเธอ “เจมี่ สเปียร์ส” ว่า บริตนีย์ไม่อยู่ในภาวะที่จะตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของตัวเองจากปัญหาด้านสุขภาพจิต เธอต้องได้รับการบำบัดและขอให้ศาลมีการแต่งตั้ง “ผู้พิทักษ์ผลประโยชน์” หรือ “Conservatorship” ขึ้นมาให้พ่อและทนายความที่ศาลแต่งตั้งเข้าทำหน้าที่จัดการชีวิตให้ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน งานในวงการ โชว์คอนเสิร์ตต่างๆ ไปจนถึงเรื่องสุขภาพว่าเธอจะต้องกินยาและบำบัดอะไรบ้าง จะเดินทางไปไหนกับใคร พูดคุยติดต่อกับใคร นับรวมไปถึงที่ว่าเธอไม่มีสิทธิได้เลือกหรือตัดสินใจใดๆ ทั้งหมดนี้กินเวลายาวนานถึง 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2008

ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี “Britney vs Spears” ร่วมมือกับนักเขียนด้านบันเทิงคดีจากนิตยสาร “Rolling Stone” ช่วยกันรวบรวมข้อมูลแกะรอยเหตุที่มา แรงจูงใจ และประมวลความเป็นไปทั้งหมดให้เราเห็นว่า เหตุใดจึงมาถึงจุดที่ “บริตนีย์ สเปียร์ส” ถูกพ่อยื่นขอเป็นผู้พิทักษ์ชีวิตของเธอ และทำไมถึงกินเวลานับทศวรรษกว่าที่บริตนีย์ จะลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของเธอคืน และขอให้ศาลคืนอิสรภาพให้ได้ในที่สุด

ในสารคดีได้ปะติดปะต่อข้อมูลหลายๆ อย่าง จนพอจะเชื่อมโยงไปสู่หลักฐานที่ว่า บริทนีย์พยายามจะทวงคืนสิทธิในชีวิตของเธอแล้ว แต่ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ มีทั้งอุปสรรคจากภายนอกที่เธอถูกควบคุมเคร่งครัด จนดูเหมือนนักโทษที่มีสายตาผู้คุมสอดส่ายตลอดเมื่อมีอะไรไม่ชอบมาพากล อีกส่วนหนึ่ง คืออุปสรรคจากความกลัวข้างในจิตใจของบริตนีย์เอง ที่เธอไม่กล้าและไม่เข้มแข็งพอที่จะออกมายืนหยัดที่จะปฏิเสธการที่พ่อและทนายความที่เธอไม่ได้เลือกมีสิทธิเข้ามาเป็นผู้พิทักษ์ชีวิตของเธอ ตัดสินใจในทรัพย์สินที่จะนำไปลงทุนที่ไหน จ้างบริษัทอะไร เงินเข้าออกเท่าไหร่ ใช้จ่ายจ้างทนายความในราคาเท่าไหร่

ขณะที่ชีวิตส่วนตัวยิ่งถูกตั้งกรอบไว้ให้หมด อาทิ เธอจะได้พบลูกตอนไหน แม้กระทั่งจะขอเงินไปซื้อหนังสือให้ลูกก็ต้องขอผ่านตัวแทนผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ และต้องบอกล่วงหน้าก่อนเป็นวันๆ ไม่นับรวมว่าแม้แต่จะออกไปเที่ยวเล่นเดินเล่น นั่งรถไปกับใคร ก็ต้องมีการขออนุญาตก่อนทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้บริตนีย์ได้มีสิทธิทำเพียงการสร้างสรรค์เนื้อหาของงาน การเขียนเพลง คิดท่าเต้นใหม่ๆ สอนท่าเต้นให้ทีมแดนเซอร์ ที่เหลือในชีวิตคือพ่อและทนายความเป็นคนกำหนดเข็มทิศชีวิตให้

“Britney vs Spears” นำเสนอให้เราเห็นว่า จุดเริ่มต้นนี้เกิดขึ้นในช่วงที่บริตนีย์ เปราะบางทางจิตใจอย่างสูง และก็ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นเธอป่วยมีปัญหาสุขภาพจิตจนต้องเข้ารับการบำบัด หลังจากมีคดีฟ้องหย่ากับ (อดีต) สามีเพื่อแย่งสิทธิเลี้ยงลูกชายทั้ง 2 คน และเธอก็พ่ายแพ้ ชีวิตช่วงนั้นค่อนข้างพังพอสมควร เธอตะลอนออกเที่ยวกลางคืน ขับรถเร็วหนีปาปาราซซี ฯลฯ ที่จัดว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงจนดูชีวิตของเธอเสียศูนย์ อาทิ เธอเคยล็อกห้องตัวเองอยู่กับลูก โดยไม่ส่งลูกคืนให้สามีตามกำหนดเวลา จนกลายเป็นข่าวใหญ่โต หลังเหตุการณ์นั้น บริตนีย์เข้ารับการบำบัด มันเป็นช่วงเปราะบางอย่างมาก ซึ่งก็กลายเป็น “ช่องว่าง” ที่เปิดให้พ่อ ที่แทบไม่ได้ใกล้ชิดเธอมานานแล้ว เพราะหย่าขาดจากแม่ตั้งแต่บริตนีย์ยังเด็กเข้ามาจัดการเรื่องธุรกิจ ทรัพย์สิน ด้วยสาเหตุที่บริทนีย์อยู่ในภาวะพังทลาย ดีลกับชีวิตส่วนตัวไม่ได้

มหากาพย์ของการถูกคุมขังทางอ้อมนี้จึงเริ่มต้นด้วยข้ออ้าง “ความห่วงใย” ทำให้ศาลจึงมีคำสั่งให้บริตนีย์ต้องมีผู้พิทักษ์ประโยชน์ขึ้นมาดำเนินการเรื่องต่างๆ แต่ใครจะคิดว่ามันจะยาวนานถึง 13 ปี แม้เมื่อ “บริตนีย์” มีภาวะจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น มีผลงานสตูดิโออัลบั้ม ออกแสดงโชว์ในลาสเวกัสต่อเนื่องเป็นปี มีคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ยาวนาน ทั้งหมดนี้เธอกลับไม่มีอิสรภาพใดๆ

ในสารคดีได้แกะรอยว่า บริตนีย์มีความพยายามอยู่ 1-2 ครั้ง ที่จะหาทางเปลี่ยนทนายความ และขอเป็นผู้เลือกทนายความเอง แต่ก็ล้มเหลว กระทั่งในปี 2020 ความเคลื่อนไหวแบบชัดเจนก็เกิดขึ้น เมื่อบริทนีย์ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ยุติการเป็นผู้พิทักษ์ประโยชน์ของพ่อ และมีโอกาสขึ้นให้การต่อศาลด้วยตัวเอง ได้พรั่งพรูทุกอย่างในใจที่เธออัดอั้นออกมา

ประเด็นของ “บริตนีย์” ถูกค่อยๆ ทำให้กลายเป็นที่สนใจในวงกว้างเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่สื่อใหญ่ “เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์” สร้างสารคดีเรื่อง “Framing Britney Spears” ออกฉายในช่อง FX และ Hulu รวมทั้งรายงานพิเศษของสถานีโทรทัศน์ CNN เรื่อง “Toxic : Britney Spears’Battle For Freedom” ซึ่งประเด็นการถูกพิทักษ์ผลประโยชน์ที่ดูเหมือนควบคุมชีวิตนี้ ถูกหยิบยกมาพูดถึงและตีแผ่ ส่งผลให้แฟนเพลงของบริตนีย์ ออกมาติดแฮชแท็ก #FreeBritney เรียกร้องอิสรภาพให้เธอ

อันที่จริงสารคดี “Britney vs Spears” ผู้สร้างได้พยายามเก็บรวบรวมข้อมูลมายาวนานพอสมควร ก่อนที่ประเด็น “บริตนีย์” จะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปีนี้ กระทั่งเมื่อศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของเจมี พ่อของบริตนีย์ สารคดีชิ้นนี้จึงได้ทำหน้าที่ขยายขยี้ให้เห็นประเด็น “ผู้พิทักษ์ผลประโยชน์” นี้มากขึ้นว่าสรุปแล้วเป็นคุณหรือเป็นโทษกันแน่

สารคดีทำได้ดีตั้งแต่เปิดเรื่อง จนเรื่องราวดำเนินมาถึงบทสรุปไว้ได้น่าประทับใจ โดยเฉพาะถ้อยคำที่บริตนีย์ขึ้นกล่าวให้การในศาล ซึ่งเป็นทั้งคำอธิบาย คำอ้อนวอนจากใจทั้งหมด และเหนือสิ่งอื่นใดคนที่จะทลายโซ่ตรวน 13 ปีนี้ได้ก็ไม่ใช่ใคร ถ้าไม่ใช่ตัวบริตนีย์เองที่ตัดสินใจกล้าลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับพ่อ และต่อสู้ให้สุดทาง จากความยากที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ก็กลับเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นมาในที่สุด