IMDB : tt0112750
คะแนน : 7
"จากการ์ตูนดังเรท R ในตำนาน (ชอบแก้ผ้าสู้กัน..เดี๋ยวๆ)"
แนะนำให้ไปหาฉบับหนังสือการ์ตูนมาอ่านหรือหาฉบับการ์ตูนอะนิเมด้วยก็ดี ไม่ใช่กลัวจะดูหนังไม่รู้เรื่องแต่เป็นความสนุกที่ไม่อยากให้พลาดซะมากกว่า โดยเฉพาะในหนังสือการ์ตูนจะมีเนื้อหาที่ละเอียดและสนุกที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุ้นในลายเส้นที่เกิดจากฝีมือ Kazuo Koike ที่น่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่อง Lone Wolf and Cub โดยมีชื่อไทยว่า"ซามูไรพ่อลูกอ่อน" ทั้งยังมีฉบับหนังมาแล้วใน Lone Wolf and Cub: Sword of Vengeance (1972) และภาคต่ออีกหลายภาค ส่วน Crying Freeman จะมีเรื่องราวแตกต่างออกไป ไม่เกี่ยวอะไรกับญี่ปุ่นสมัยยุคซามูไร จะเป็นเรื่องอีกยุคหนึ่งเกี่ยวกับนักฆ่าจำเป็นที่ลงมือฆ่าสำเร็จจะต้องหลั่งน้ำตาออกมา
หลังจากได้อ่านมังงะกับดูอะนิเมก็พบว่าเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยทักษะของตัวละครล้วนๆ น้อยมากที่จะมีฉากแอ็คชั่นแบบมันส์ๆเพราะมุ่งไปที่จุดตายซะมากกว่า อีกอย่างคืออาวุธหลักเป็นมีดที่มีไว้แทงแบบถึงตาย แทบจะไม่มีเวลาให้สู้ปะดาบกันเท่าไร มาถึงแทงหัวใจแทงหัวตายไปเลย แต่เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับการตั้งคำถามการให้เรื่องออกมาสนุกจำเป็นต้องมีการต่อสู้กันหรือเปล่า แน่นอนว่าจะต้องมีไม่งั้นจะสนุกได้อย่างไร ขณะเดียวกันจำเป็นไหมต้องยืดเยื้อให้สู้กันนานผ่านไปหลายหน้าหลายตอนเพื่อแสดงทีเด็ดของตัวละครที่โชว์แล้วโชว์อีกไม่จบลงง่ายๆ ซึ่ง Crying Freeman ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับการต่อสู้ที่เก่งแค่ไหนก็ตายได้ในท่าเดียว บางทีเปิดตัวเหมือนจะเก่งแต่เอาเข้าจริงก็โดนท่าเดียวจอดกันอย่างดื้อๆและจบลงแบบนิ่มๆอย่างไร้เยื่อใย
ฉบับหนังก็เช่นกันที่เหมือนจะแอ็คชั่นยิงกันระเบิดระเบ้อแต่เอาเข้าจริงแทบไม่มีให้เห็นเท่าไร จะมุ่งเน้นที่การเล่าเรื่องกับบรรยากาศตามแบบต้นฉบับอารมณ์เย็นชาที่กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว โดยเรื่องราวจะเริ่มต้นตามต้นฉบับมังงะด้วยเรื่องเล่าของอีมู โอฮารา (Julie Condra) หญิงสาวที่พบ"เสรีชน"หรือ"ฟรีแมน"เข้าอย่างบังเอิญขณะกำลังทำภารกิจรับคำสั่งฆ่า ซึ่งการพบและเห็นฟรีแมนกำลังปฏิบัติงานทำให้เธอเป็นเป้าสังหารต่อไป ทว่าอีมูไม่ได้หวาดหวั่นในตัวนักฆ่าคนนั้นแต่อย่างใด ซ้ำรู้สึกโหยหาอยากเจออีกสักครั้งแม้จะเป็นวันตายของเธอก็ตาม ซึ่งชื่อของนักฆ่าคนนั้นคือโย ฮิโนมูระ (Mark Dacascos) เป็นการบอกนัยยะการที่นักฆ่าบอกชื่อจริงให้รู้เท่ากับชีวิตใกล้จะจบลง
เหมือนจะโรแมนติกยังไงก็ไม่ทราบเพราะเปิดเรื่องด้วยกลิ่นอายของฝ่ายหญิงที่ตกหลุมรักนักฆ่าที่แม้จะเห็นกันต่อหน้าว่าฆ่าคนไปเท่าไรอย่างเลือดเย็น กระนั้นจะว่าแปลกก็ไม่เชิงเพราะสำหรับอีมูเป็นตัวละครที่วางเอาไว้อย่างใจเย็นและไม่คาดหวังอะไรนักเกี่ยวกับชีวิต ดังนั้นการเห็นคนฆ่ากันตายหรือที่กำลังจะมาฆ่าเธอนั้นเป็นเรื่องที่ธรรมดาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิต หรือนี่อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่เธอต้องการเพราะตลอดทั้งชีวิตของอีมูไร้ซึ่งความหวือหวาจนไม่รู้ต้องการสิ่งใดดีสำหรับโยจึงเป็นสิ่งใหม่ที่น่าจะช่วยให้ชีวิตของเธอได้รับการปลดปล่อยก็เป็นได้ เช่นเดียวในฉบับการ์ตูนที่แม้จะไม่เหมือนฉบับหนังเพราะปรับเปลี่ยนชีวิตของอีมูให้ดูเป็นคุณหญิงแต่ทุกอย่างเหมือนกันหมด โดยเฉพาะเรื่องมิติตัวละครที่นิ่งและสวยมีเสน่ห์ มีความอ่อนแอจากภายนอกแต่เข็มแข็งจากภายใน จุดนนี้ต้องยอมรับในตัวนักแสดง Julie Condra ที่เข้าถึงคาแรกเตอร์เหมือนถอดมาจากการ์ตูน
เรื่องราวของ Crying Freeman ฉบับหนังจะอิงเรื่องราวจากการ์ตูน Part 1 ที่เป็นจุดเริ่มต้นปฐมบทเรื่องราวจากทั้งหมด 5 Part ที่แบ่งเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นเล็กๆไปสู่ระดับองค์กรก่อนจะขยายไปถึงระดับประเทศ(แนะนำหาฉบับอะนิเมะจะแบ่งเป็น 4 ภาคชัดเจน ส่วนฉบับมังงะจะเป็นเนื้อหารวมเล่มต่อกันจนจบ) สำหรับเนื้อเรื่องจะเล่าถึงตัวตนของฟรีแมนที่รับคำสั่งฆ่าแล้วได้ไปพบเจออีมู ซึ่งอีมูที่กำลังวาดรูปอยู่ก็บังเอิญพบเห็นเหตุการณ์อย่างไม่ตั้งใจก่อนจะเป็นเป้าสังหารในเวลาต่อมาเพื่อลบล้างพยานเห็นเหตุการณ์ จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มจากหน้าที่ของโยที่ต้องการฆ่าอีมูแต่ไม่อาจทำสำเร็จเพราะตกหลุมรักอย่างไม่รู้ตัว ส่วนอีมูนั้นรู้สึกได้ตั้งแต่แรกพบ การพบกันโดยอีกหนึ่งมาฆ่ากับอีกหนึ่งรอคอยเป็นความรู้สึกที่ขัดแย้งแต่ขยี้อารมณ์ได้อย่างไหลลื่น ถ้าว่ากันตามตรงการเจอกันของทั้งสองมีสภาพไม่ต่างกับรักอีโรติกที่อีกฝ่ายหนึ่งมีความปรารถนาตั้งแต่แรกและไม่รู้จะทำยังไงกับสิ่งนั้นนอกจากปลดปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการ ส่วนโยมีหน้าที่เสมือนผู้สนองความต้องการนั้นช่วยให้อีมูได้พบกับมุมมองใหม่ของชีวิตและการเป็นสาวเต็มตัว
Mark Dacascos รับบทเป็นฟรีแมนที่แม้จะรู้สึกไม่มั่นใจในฝีมือเท่าไรเพราะตามฉบับการ์ตูนเป็นหนุ่มหล่อหน้านิ่งมากทักษะการต่อสู้ แต่พอได้เห็นการแสดงก็พบถึงความใกล้เคียงที่แม้ไม่หล่อมีเสน่ห์เท่าก็เพียงพอในเรื่องของคาแรกเตอร์ที่พูดน้อยหล่อนิ่งสมนักฆ่า ในส่วนของเนื้อเรื่องเองก็เหมือนจะพยายามอิงให้ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุดแม้จะดัดแปลงไปบ้างนิดนึงก่อนจะเปลี่ยนไปเกือบหมดในไคล์แม็กซ์ที่ตั้งใจให้ออกมาสมแอ็คชั่นระเบิดภูเขาเผากระท่อม แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนในช่วงแรกไม่มีผลอะไรหากเทียบกับต้นฉบับอย่างชื่อเดิมคือ"เกา"เปลี่ยนเป็น"โย" และตัดเรื่องราวอีกหลายอย่างที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกไปเพื่อให้ดูเหมือนจบในตอนได้เลยแบบไม่มีอะไรค้างคา เช่น เบื้องลึกของกลุ่ม 108 มังกรที่เป็นองค์กรหนึ่งที่ลักพาตัวโยมาเป็นนักฆ่า ในหนังไม่ได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรเท่าไรจนเหมือนไม่มีด้วยซ้ำ จะคงเหลือไว้แค่ตอนลักพาตัวโยมาฝึกรับให้แข็งแกร่งก่อนจะตามด้วยรอยสักมังกรที่ตัวอันเป็นเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือน
ใจความแรกเกี่ยวกับฟรีแมนหรือนักฆ่าหลั่งน้ำตามาจากการเป็นคนธรรมดาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กร 108 มังกรอย่างไม่ตั้งใจ และถูกร่างสมองพร้อมกับฝึกให้เป็นนักฆ่าเพื่อรับคำสั่ง โดยใจความการหลั่งตาทุกครั้งที่ฆ่าเสมือนการฝืนตัวตนที่แท้จริงว่าไม่อยากทำแต่ปฏิเสธไม่ได้ ราวกับเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นจนไม่อาจฝืนใจกลั้นน้ำตา แม้นัยยะนี้ไม่ได้อธิบายอะไรมากนักก็พอจะมองออกจากการเล่าปมหลังของตัวละครที่ให้โชคชะตาของนักปั้นหม้อดินเป็นนักฆ่าอย่างมิอาจหลีกพ้น เช่นเดียวกันกับโยจากคนธรรมดาเป็นนักฆ่าก็ใช่จะจงเกลียดจงชังในตัวองค์กร ซึ่งเรื่องราวควรจะเป็นเช่นนั้นในฐานะที่ทำให้ชีวิตทั้งชีวิตเป็นเครื่องจักรสังหารและเดี่ยวดาย ประเด็นเลยกลายเป็นความเสียดายถ้าเล่ารายละเอียดมากกว่านี้สักหน่อยคงจะดีไม่น้อย เพราะสิ่งที่เห็นอยู่คือการฝืนยอมรับความจริงที่เป็นอยู่แบบไม่ขัดหรือแย้งใดๆ
ทว่าประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับตัวโยและองค์กร 108 มังกรที่แม้ในหนังจะดูไม่ชัดเจนก็พอจะรู้เรื่องสำหรับคนที่อ่านมังงะมาก่อน(ฉบับอะนิเมะยังไม่ค่อยลงลึกเท่าไร) เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความหนาลึกและซับซ้อนกว่าจะบอกเป็นองค์ที่ชั่วร้าย การที่โยเป็นนักฆ่านามว่าฟรีแมนไม่ได้แปลว่าจะต้องฆ่าคนตามคำสั่งเสมือนเบี้ยล่างเสมอไป กับคนที่อ่านมังงะจะเข้าใจว่านี่เป็นเพียงบททดสอบอย่างหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทดสอบตัวตนและจิตใจของโยเพื่อก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่แก่องค์กรในอนาคต เช่นเดียวกับอีมูที่กลายเป็นหญิงรักของโยต้องร่วมเป็นร่วมตายในบทเรียนครั้งนี้ด้วย บางทีถ้ามีภาคต่อคงจะดีไม่น้อยเพราะหลังจากนี้จะเข้มข้นด้านมิติตัวละครและพล็อตที่กว้างขึ้นหลายเท่าตัว
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ลืมไปเกี่ยวกับฟรีแมนคือชื่อที่เดิมฉบับมังะเป็น"เกา"ส่วนฉบับหนังใช้ชื่อ"โย"แทน เนื่องจากพล็อตเรื่องจะเป็นการผสมผสานระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ตัวเอกเองเป็นคนญี่ปุ่นจึงน่าจะใช้ชื่อที่เข้ากับญี่ปุ่นมากกว่าชื่อจีน และอีกข้อสังเกตหนึ่งที่เข้ากันอย่างเหลือเชื่อคือนักแสดงพระนางที่เผอิญคู่กัน ระหว่าง Mark Dacascos กับ Julie Condra ที่เบื้องหลังเป็นคู่รักกันจริงๆ ทำให้หลายอย่างดูเข้ากันอย่างเหลือเชื่อแม้ในมุมมองหนึ่งจะเหมือนเล่นแข็งแต่นี่แหละตามบทบาทคาเรกเตอร์นิ่งเงียบ ไม่เน้นความหวือหวานอกจากเสน่ห์ความเยือกเย็นให้หลงรักกันเอาเอง
ถ้าจะสรุป Crying Freeman ฉบับหนังคงไม่บอกว่าสนุกเท่าฉบับการ์ตูน กระนั้นการถ่ายทอดอารมณ์ทำได้ค่อนข้างในช่วงแรกและคงรักษาตามแบบต้นฉบับอย่างดี ถึงจะดัดแปลงไปบ้างก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เดิม ถ้าจะไม่ชอบก็คงเป็นไคล์แม็กซ์เพราะฉบับการ์ตูนแทบไม่มีบู๊อะไรเลย จะออกแนววางแผนซุ้มจัดการและต่อรองเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ฉบับหนังยิงกันเป็นว่าเล่นจนพระเอกของเราเก่งเกินไปหรือตัวร้ายอ่อนเกินไป อย่างน้อยตอนจบสรุปเรื่องราวได้ดีและเคลียร์ได้ทุกประเด็น(แม้ว่าจะรู้สึกไม่ครบถ้วนเพราะเนื้อหาค่อนข้างยาวและต้องใช้ทุนพอสมควร อย่างฉากเรือดำน้ำในฉบับการ์ตูนที่ไม่มีในหนังเพราะจะทำให้เพิ่มตัวละครไม่จำเป็นเข้ามาและจะกลายเป็นว่าตัวละครเยอะแต่ไม่รู้จะใส่มาทำไมเพราะสุดท้ายก็เป็นแค่เรื่องของโยกับอีมูเท่านั้น เรื่องขององค์กรจะไม่พูดถึง) เอาเป็นว่าสำหรับแฟนการ์ตูนโดยเฉพาะ ใครชอบไม่ชอบส่วนหนึ่งมาจากการ์ตูนเพราะดึงเสน่ห์ฉบับการ์ตูนมาได้ดี ฉากบู๊ออกแนวซุ้มฆ่าทีเดียวตาย ใครเก่งใครเด่นมีสิทธิ์ตายเท่าเทียมกันหมดเลยนะเรื่องนี้ บางทีก็เกินคาดจริงๆ