ค้นหาหนัง

Fight Club | ไฟท์ คลับ ดิบดวลดิบ

Fight Club | ไฟท์ คลับ ดิบดวลดิบ
เรื่องย่อ : Fight Club | ไฟท์ คลับ ดิบดวลดิบ

ชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายของแจ็ค (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเขาได้พบกับเพื่อนใหม่อย่างไทเลอร์ เดอร์เด็น (แบรด พิทท์) ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งไฟท์ คลับ ที่เบื้องหน้าคือการจับคู่ต่อสู้แบบดิบดวลดิบของเหล่าบรรดาสมาชิก แต่เบื้องหลังคือปฏิบัติการซ่อนเร้นที่ตื่นเต้นดุเดือดเลือดพล่านยิ่งกว่า

IMDB : tt0137523

คะแนน : 10



สำหรับ Fight Club นั้น อยากแนะนำให้กับทุกคนที่กำลังรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับชีวิต ที่ยังคงเวียนว่ายอยู่กับการทำสิ่งเดิมๆ ในแต่ละวัน เพราะหนังเรื่องนี้จะโยนความดิบมาให้ เสมือนให้เราได้ระบายอารมณ์ ปลดปล่อยความคับแค้นใจต่อระบบทุนนิยมที่กดขี่เราอยู่ แต่คุณจะมองหนังไปได้ไกลขนาดไหนนั้นส่วนนึงอาจจะอยู่ที่สกิลการตีความ รวมถึงประสบการณ์ของตัวเอง เพราะส่วนตัวแล้ว การดู Fight Club แต่ละครั้งในชีวิตของตัวเอง ก็ยังได้มุมมองและอะไรใหม่ๆ กลับมาทุกครั้ง ซึ่งหากชอบหนังสไตล์ยียวนลึกซึ้งแบบ Pulp Fiction หรือหนังสไตล์เข้มๆ ของผู้กำกับอย่าง Seven มาก่อนหน้านี้แล้ว เราคงยื่น Fight Club ให้ได้ดูต่อด้วยความเต็มใจ

หนังของผู้กำกับสายละเอียดสุดเนี้ยบในทุกรายละเอียดอย่าง David Fincher ที่ยังคงเน้นในเรื่องคุณภาพในงานตัวเองอีกเช่นเคย แต่ด้วยความที่หนังค่อนข้างมีประเด็นเรื่องราวที่ลึก และต้องอาศัยการตีความอยู่ไม่น้อย เลยทำให้กระแสของหนังที่ออกมาในช่วงแรก จึงแตกออกเป็นสองเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยกลุ่มที่เข้าใจและสนุกไปกับประเด็นของหนังก็จะรักหนังเรื่องนี้ จนอยากจะลองซัดหน้าใครสักคนดูบ้างหลังดูหนังจบ แต่กับอีกกลุ่มที่เกลียดหนังเรื่องนี้เอาซะมากๆ เพราะรู้สึกว่ามันต้องคอยมานั่งตีความสัญลักษณ์ต่างๆ ในหนังที่เข้าใจยากซะเหลือเกิน แต่เผอิญว่าเราดันอยู่กลุ่มที่ชอบมันมากกว่า รีวิวนี่เลยจะไปทางเชียร์ว่าทำไมมันถึงเป็นหนังที่มีคุณภาพดีในสายตาของเรา

ส่วนนึงเลยแม้ว่าสิ่งที่ฉาบหน้าหนังจะเป็นในเรื่องของความ ดุ เดือด ดิบ เอาความสะใจ กับการตั้ง Fight Club และความเท่ของตัวละคร บทพูด รวมถึงกฏที่คนยังมักเอามาใช้พูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “กฏข้อแรกของ Fight Club ก็คืออย่าพูดถึง Fight Club” แต่ในเนื้อแท้ของหนังแล้วกลับพูดถึงระบบทุนนิยมได้อย่างเจ็บแสบ สะเทือนไปถึงทรวงในคนดูอยู่ไม่น้อย การต่อสู้ใน Fight Club จึงไม่ต่างอะไรกับการระบาย ความคับข้องใจที่มีต่อระบบทุนนิยมที่ต่างกฏขี่พวกเขาให้ไม่มีชีวิตที่อิสระเป็นของตัวเอง และการซัดกันเน้นๆ ด้วยหมัดต่อหมัดของทุกคืนก็คือช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยเพื่อที่จะกำหนดโชคชะตาของตัวเองได้ แล้วหลีกหนีจากชีวิตที่ซ้ำซากจำเจที่เกิดขึ้น

สุดท้ายแล้วหนังก็พาเราไปได้ไกลกว่าจากการต่อยตีจากแค่ใน Fight Club สู่การแสดงออกถึงการต่อต้านทุนนิยมกันแบบสุดซอย สู่ Project Mayhem แม้ว่าคนดูส่วนมากจะเห็นด้วยกับหนังและสะใจไปกับการระบายความคับคั่งใจไปกับระบบทุนนิยมมากสักแค่ไหน แต่สุดท้ายเราเองก็ไม่สามารถปฏิเสธกับการเวียนว่ายอยู่ในระบบของทุนนิยม ทำงานสภาพเดิมๆ ไปทุกวันเพื่อหาเงินมาซื้อของให้ทันยุคทันสมัย ใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ไปเที่ยว เผื่อถ่ายรูปอวดใครๆ ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไรให้ได้น่าอิจฉา ให้กับคนที่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้สนใจเขาเท่าไรนัก เหมือนอย่างที่ตัวละครในหนังได้กล่าวเอาไว้อยู่ดี ทำให้ฟิลลิ่งตอนดูไปก็จุกไปกับความจริงที่เข้ามากระแทกหน้าอยู่ตลอดเวลา