ค้นหาหนัง

Gone Baby Gone

Gone Baby Gone
เรื่องย่อ : Gone Baby Gone

เมื่อ อแมนด้า แม็กเครดี้ย์ (มาเดอลีน โอไบรอัน) หนูน้อยวัย 4 ขวบ ได้หายตัวออกไปจากบ้านและความคืบหน้าในการดำเนินคดีของตำรวจนั้นก็ล่าช้า บีทริก แม็กเครดี้ย์ (เอมี่ มาดิแกน) ผู้เป็นน้าจึงว่าจ้างนักสืบส่วนตัว 2 คนคือ แพทริก เคนซี่ (เคซีย์ เอฟเฟล็ก) และ แองจี้ เก็นนาโร (มิเชล โมนาแกน) ให้มาช่วยติดตาม นักสืบอิสระทั้งคู่นั้นต่างก็มีประสบการณ์ในคดีแบบนี้น้อยมาก แต่พวกเขาก็เป็นที่ต้องการ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ พวกเขาไม่ใช่ตำรวจ และ พวกเขาก็รู้จักสถานที่ที่เหี้ยมโหดที่พวกเขาพักอาศัยเป็นอย่างดี เมื่อการทำงานเริ่มขึ้น แพทริก และ แองจี้ ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด และเมื่องานนี้สิ้นสุดลง พวกเขาก็ต้องเจอกับความขัดแย้งภายในจิตใจ

IMDB : tt0452623

คะแนน : 8



บทความชิ้นนี้เปิดเผยจุดพลิกผันและเนื้อหาสำคัญของหนังดิฉันดู Mystic River แค่รอบเดียว และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ดูซ้ำ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความ ‘ดีหรือไม่’ ของหนัง แต่เพราะมันเป็นหนังที่ทำให้ดิฉันรู้สึกหดหู่ สลดและสิ้นหวังกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ จำได้ว่า วันนั้นขณะเดินออกจากโรงหนัง ดิฉันหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับคำถามเดิมซ้ำๆ...อะไรทำให้คนเราเลวและร้ายต่อกันได้ถึงเพียงนั้น?

ระหว่างดู Gone Baby Gone ดิฉันรู้สึกว่ามันมีบางอย่างชวนให้นึกถึง Mystic River ทั้งบรรยากาศหนักอึ้งตึงเครียดลึกล้ำที่อบอวลอยู่รายรอบ สภาพแวดล้อมที่มีกลิ่นอายของความชั่วร้ายคลุ้งตลบ ตัวละครที่บอกไม่ได้ชัดว่าดีหรือชั่ว และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องพัวพันกับความดี-ชั่วในตัวมนุษย์

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกันหมัดต่อหมัดแล้ว Gone Baby Gone ดูสนุกกว่า เครียดน้อยกว่า จะบอกว่าดีกว่าก็พูดไม่ได้เต็มปาก (เพราะถึงวันนี้ ดิฉันจดจำรายละเอียดต่างๆ ใน Mystic River ได้น้อยมาก) แต่ที่พอจะพูดได้ก็คือ ถ้าวัดกันเรื่อง ‘ความชอบ’ แต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ส่วนตัวดิฉันเอง ชอบ Gone Baby Gone มากกว่า Mystic River หลายเท่า

ดิฉันเพิ่งมารู้ทีหลังว่าหนังทั้ง 2 เรื่องดัดแปลงจากนิยายของนักเขียนคนเดียวกัน คือ เดนนิส เลเฮน นักเขียนชาวอเมริกันวัย 43 (เกิดเมื่อปี 1965) ที่มีหนังสือติดอันดับขายดีและเคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมมาหลายรายการด้วยกัน

Gone Baby Gone เป็นหนังสือเล่มที่ 4 ในนิยายนักสืบชุด ‘เคนซี-เจนนาโร’ (ตามชื่อนักสืบทั้งสองของเรื่อง) เลเฮนเขียนนิยายชุดนี้ครั้งแรกในปี 1994 เล่มแรกชื่อ A Drink Before the War ต่อด้วย Darkness, Take My Hand (1996), Sacred (1997), Gone Baby Gone (1998) และ Prayers for Rain เล่มที่ 5 และเป็นเล่มสุดท้ายในเรื่องชุดนี้ ออกวางจำหน่ายในปี 1999

ตัวละครหลักของ Gone Baby Gone คือ แพทริก เคนซี และ แองเจลา เจนนาโร คู่หูและคู่รักที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักสืบเอกชนในย่านอันตรายแห่งหนึ่งในบอสตัน ทั้งคู่เชี่ยวชาญและช่ำชองคดีคนหาย (จำพวก ลูกหนี้ที่หนีเจ้าหนี้ ภรรยาที่หนีสามี ฯลฯ) เนื่องจากอาศัยอยู่ในละแวกนั้นมาตั้งแต่เกิด จึงรู้จักผู้คนและช่องทางแถวนั้นทะลุปรุโปร่ง และบ่อยครั้งความเป็น ‘คนวงใน’ ก็ทำให้พวกเขาได้ข้อมูลเชิงลึกที่นักสืบจากถิ่นอื่น –รวมทั้งตำรวจ- ไม่มีทางจะหาได้

วันหนึ่ง ทั้งคู่ได้รับการว่างจ้างให้ตามหาเด็กหญิงวัย 4 ขวบคนหนึ่งซึ่งหายไปจากบ้านเมื่อ 3 วันก่อน และคดีของเธอก็กำลังเป็นเป้าความสนใจของผู้คนในช่วงเวลานั้น

ทีแรกแพทริกและแองเจลาไม่ต้องการรับงานนี้ เนื่องจาก หนึ่ง มันเป็นงานคอขาดบาดตายเกินคดีคนหายที่พวกเขาเคยรับทำปรกติ และสอง แองเจลาให้เหตุผลว่า เธอไม่อยากเป็นคนไปพบเด็กหญิงนอนเป็นศพอยู่ในถังขยะ (เพราะโดยสถิติแล้ว ในคดีเด็กหายทำนองนี้ หากตามหาเด็กไม่พบภายใน 24 ชั่วโมง โอกาสที่จะพบเด็กมีชีวิตรอดนั้น ค่อนข้างริบหรี่เกือบเป็นศูนย์) อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เมื่อเห็นรูปถ่ายของเด็กหญิงผมทองหน้าตาน่ารักคนนั้น ทั้งคู่ก็ใจอ่อนและตกปากรับทำคดีในที่สุด

ระหว่างการตามหาเด็กหญิง ทั้งคู่พาตัวเองไปพบปะบุคคลอันตรายสารพัดคน และสถานการณ์อันตรายสารพัดครั้ง กระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองไม่คาดหมายมาก่อนว่าจะได้พบก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้ ที่สุดแล้วกลับกลายเป็น ‘บททดสอบคุณธรรม’ ซึ่งบังคับให้พวกเขาต้องเล่นเกม 20 คำถาม ปุจฉา-วิสัชนาเรื่อง ‘ดี-ชั่ว’ และตรวจสอบ ‘จุดยืนทางศีลธรรม’ ของตัวเอง

Gone Baby Gone เป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของ เบน แอฟเฟลก หนังออกฉายที่อเมริกาเมื่อปีก่อน ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมอย่างค่อนข้างจะเป็นเอกฉันท์ (2 คนที่ใครต่อใครพากันชื่นชมมากที่สุดก็คือ ตัวแอฟเฟลกเอง และ เอมี ไรอัน ผู้รับบทสาวขี้ยา แม่ของเด็กหญิงที่หายตัวไป) โดยรวมแล้วกล่าวได้ว่า มันเป็นการแจ้งเกิดในสายงานกำกับที่งดงามของแอฟเฟล็ก และแทบจะลบภาพ ‘ดาราเสียศูนย์’ ที่ติดตัวเขาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาไปได้อย่างหมดจด

คำว่า ‘ตื่นเต้น’ และ ‘เร้าใจ’ อาจไม่ใช่คำนิยามหนังเรื่องนี้ที่เที่ยงตรงนัก แต่อย่างไรก็ตาม Gone Baby Gone ก็เป็นหนังที่ดูสนุกและน่าติดตามในระดับมากถึงมากที่สุด แม้ว่าช่วงเริ่มต้นราว 20 นาทีแรก -ที่เป็นการบอกเล่าปูพื้นให้ผู้ชมทำความรู้จักตัวละครและทำความเข้าใจคดีเด็กหายซึ่งเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของเรื่อง- อาจจะดูมึนๆ (เพราะไม่แน่ใจว่าหนังจะพาผู้ชมไปไหน) อยู่บ้าง ทว่าหลังจากหนังเดินเครื่องติด แพทริกและแองเจลาเริ่มต้นสืบสวนคดีแล้ว หนังก็ยึดครองความสนใจของผู้ชมได้อย่างเบ็ดเสร็จเลยทีเดียว

หนังมีทั้งฉากที่เล่นกับสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ตึงเครียด อันตราย ที่กระตุกเส้นประสาทผู้ชม มีจุดพลิกผันที่คาดไม่ถึง มีการซุกซ่อนปมความลับและร่องรอยที่จะนำไปสู่คำเฉลยความลับนั้นที่แนบเนียน ทั้งยังมีบทสรุปของเรื่องที่กระทบกระเทือนและกระแทกกระทั้นความรู้สึกของผู้ชมเอาเรื่อง

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นข้อดีทั้งหมดที่กล่าวมา ที่สุดแล้วก็ยังเทียบไม่ได้กับคุณูปการประการสำคัญของหนัง ที่เหมือนกับจะเป็นการตั้งเวทีให้ผู้ชมได้เปิดศึกวิวาทะทางความคิดกับตัวเอง ในหัวข้อว่าด้วยจุดยืนทางศีลธรรม – ทำนองเดียวกับที่ตัวละครสำคัญของเรื่องอย่างแพทริกและแองเจลาจำต้องสู้รบปรบมือกับตัวเองอย่างไรอย่างนั้น

หลังจากพาตัวเองไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันตรายสารพัด แพทริกและแองเจลาก็พบความจริงอันน่าตระหนกว่า การที่เด็กหญิงหายตัวไปในครั้งนี้ แท้จริงแล้วเป็นฝีมือลุงของเด็กกับเพื่อนตำรวจกลุ่มหนึ่ง ที่ร่วมกันวางแผนลักพาตัวเด็กหญิงไป ด้วยสาเหตุคือ ผู้เป็นลุงเห็นเด็กถูกแม่ขี้ยาเลี้ยงดูอย่างทิ้งขว้างไม่เอาใจใส่แล้วอดรนทนไม่ได้ เขารู้ด้วยประสบการณ์ว่า ถ้าขืนให้เด็กอยู่ในการปกครองของมารดาที่แสนจะไร้ความรับผิดชอบเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีกไม่นานเด็กก็คงพบกับความหายนะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ตายก่อนวัยอันควร ก็คงโตขึ้นกลายเป็นอีสาวขี้ยาไร้อนาคตแบบเดียวกับแม่อย่างไม่ต้องสงสัย

แผนการที่ลุงกับเพื่อนตำรวจวางไว้ก็คือ จะลักพาตัวเด็กไปจากบ้าน จากนั้นก็สร้างสถานการณ์ให้ดูเหมือนว่าเด็กถูกโจรฆ่าทิ้งโดยหาศพไม่พบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาจะนำเด็กไปให้นายตำรวจใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่เชื่อถือได้แน่นอนว่า จะเลี้ยงดูเด็กด้วยความรักและความเอาใจใส่ในแบบที่แม่แท้ๆ ของเด็กไม่อาจทำได้และไม่เคยคิดจะทำ

สิ่งที่หนังตั้งธงไว้เป็นปลายทางของเรื่องก็คือ ที่สุดแล้วแพทริกจะค้นพบความจริงทั้งหมดนี้ และเขาก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่บังคับให้ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไร ระหว่าง 1. แจ้งตำรวจ เพื่อนำเด็กกลับคืนสู่อ้อมอกอันไร้ความอบอุ่นของผู้เป็นแม่ หรือ 2. เพิกเฉย ปล่อยให้เด็กอยู่ในการอุปการะของนายตำรวจใหญ่ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาและความรักผู้นั้นต่อไป

ความยอดเยี่ยมของ Gone Baby Gone คือการที่หนังผลักไสผู้ชมจนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับแพทริก พร้อมกับท้าทายเราว่า ถ้าเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันบ้าง เราจะตัดสินใจเช่นไร?

หนังให้น้ำหนักกับทั้ง 2 ทางเลือกพอๆ กัน และชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก

ถึงที่สุดแล้ว Gone Baby Gone อาจไม่ใช่หนังที่ให้แง่คิดงดงามตามอุดมคติ ทั้งยังไม่ใช่หนังที่ดูแล้วรู้สึกว่าชีวิตสีหวานมีความหวัง แต่คุณค่าของมันคือการโยนคำถามมากมายให้ขบคิด และกระตุ้นให้ผู้ชมได้บริหารความคิดอย่างเข้มข้น

เหนืออื่นใด มันสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า เราไม่ได้อยู่ในโลกอุดมคติ ไม่ใช่โลกที่ซื่อสัตย์เถรตรง ไม่ใช่โลกที่ผลลัพธ์กับการกระทำจะแปรผันตามกันอย่างสมเหตุสมผลเสมอไป แต่แท้จริงแล้ว มีเงื่อนไขหลายหลากรายรอบที่ทำให้โลกซับซ้อนมากกว่านั้น...ซับซ้อนเกินกว่าจะกำหนดให้มีเพียงสีขาวกับสีดำ

อีกทั้งการจำแนกแยกแยะคนดีกับคนชั่ว การกระทำที่ดีกับการกระทำที่ชั่ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้โดยง่ายดายนัก