ค้นหาหนัง

Gosford Park รอยสังหารซ่อนสื่อมรณะ

Gosford Park
เรื่องย่อ : Gosford Park รอยสังหารซ่อนสื่อมรณะ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1935 ณ คฤหาสน์ กอสฟอร์ด ปาร์ค ในประเทศอังกฤษ จากคำบอกเล่าของสาวใช้ผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งที่ชื่อ แมรี่ (เคลลี่ แม็คโดนัลด์ กับภรรยาของท่านเลดี้ซิลเวีย (คริสติน สก๊อตต์ โธมัส) ได้เชิญอาคันตุกะผู้มีเกียรติทั้งหลายเข้าร่วมในงานปาร์ตี้ที่คฤหาสน์ ประกอบไปด้วยน้องสาว 2 คนของซิลเวีย เลดี้ลูอิซ่า (เจอรัลดีน โซเมอร์วิลล์) และเลดี้ลาวิเนีย (นาตาชา ไวท์แมน) กับสามีของพวกเธอ ลอร์ดเรย์มอนด์ (ชาร์ลส แด๊นซ์) และนายพลแอนโธนี่ (ทอม ฮอลแลนเดอร์) เค๊าน์เตสแห่งเทรนแธ่ม (แม็กกี้ สมิธ) ซึ่งเป็นเจ้านายผู้มีอารมณ์ร้ายของแมรี่ ติดตามด้วยหัวหน้าคนใช้ชื่อ เอลซี่ (เอมิลี่ วัตสัน)

IMDB : tt0280707

คะแนน : 7



ช่วงนี้ลองหยิบซีรี่ส์ Downton Abbey มาดู พอดูๆ ไปก็นึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมาครับ เพราะแรกเริ่มเดิมที Downton Abbey จะเป็นภาคแยกของ Gosford Park แต่สุดท้ายทีมงานตัดสินใจเอาเฉพาะสไตล์ของเรื่อง (ที่ว่าด้วยเรื่องของชนชั้นสูงและคนรับใช้ ในคฤหาสน์หลังใหญ่) มาสานต่อ ส่วนด้านเนื้อหาจะเป็นเอกเทศไม่เกี่ยวกัน

จำได้ว่ารอบแรกที่ดู Gosford Park ก็นึกถึงหนังแนวสืบสวนฆาตกรรมสมัยขาวดำ ซึ่งส่วนมากเรื่องมักเกิดในบ้านหลังใหญ่ เศรษฐีมักต้องเป็นเหยื่อ จากนั้นก็มีการสืบหาความจริงตามมา สไตล์แบบนี้คอนิยายที่อ่านงานของ Agatha Christie น่าจะคุ้นเคยกันดีครับ

Gosford Park ว่าด้วยเศรษฐีกลุ่มหนึ่งเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจร่วมกันที่กอสฟอร์ด พาร์ค โดยแต่ละคนก็พาเอาญาติและมิตร อีกทั้งคนรับใช้ประจำตัวมากันเต็มไปหมด โดยหนังนั้นจะเดินเรื่อง 2 ส่วนไปพร้อมๆ กัน ส่วนแรกคือดราม่าที่ว่าด้วยสัมพันธภาพระหว่างตัวละคร ไม่ว่าจะเศรษฐี-เศรษฐี, เจ้านาย-คนรับใช้, คนรับใช้-คนรับใช้ แล้วจากนั้นสักพักก็จะมีประเด็นการฆาตกรรมแทรกลงมา แต่โดยหลักๆ แล้วหนังจะเน้นไปดราม่ามากกว่า ส่วนการสืบสวนตามปมนั้นจะไม่เด่นเท่าไร

ต้องบอกก่อนสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยชม เพราะอาจคิดว่าเป็นหนังสืบสวน จึงขอแจ้งแต่เนิ่นๆ ครับ ว่ามันไม่ได้เน้นสืบสวนเท่าไร จะว่าไปก็ต้องบอกว่ามีการสืบสวนเป็นเพียงฉากหลังเท่านั้นครับ แต่ของที่เน้นหลักๆ คือดราม่า

ผมชอบนะครับเรื่องนี้ อย่างที่บอกว่ามันได้อารมณ์เหมือนเห็นบรรยากาศประมาณนิยายของ Agatha Christie มาโลดแล่น แม้จะไม่ได้มีอะไรมากนักในเรื่องการสืบสวน แต่บรรยากาศกับคาแรคเตอร์ตัวละครนี่มันได้อารมณ์แบบในหนังสือจริงๆ ครับ มันสะท้อนยุคแห่งผู้ดีอังกฤษออกมาได้แบบถึงใจดีมากๆ

แล้วจุดที่น่าชื่นชมคือแม้หนังจะอุดมไปด้วยบทสนทนา แต่หนังไม่น่าเบื่อ เหตุผลก็เพราะได้ของดีมาเสริมครับ

ของดีแรกคือดาราที่กวาดระดับหัวกะทิมาเพียบ ไม่ว่าจะ Helen Mirren, Maggie Smith, Derek Jacobi, Alan Bates, Kristin Scott Thomas, Clive Owen, Emily Watson, Charles Dance และ Michael Gambon อันว่าลีลาการแสดงของแต่ละคนนั้นดึงความสนใจจากผู้ชมได้อย่างดี

ของดีต่อมาคือบท หากดูเผินๆ เหมือนหนังจะไม่มีอะไรน่าสนใจ แค่ผู้ดีกับคนรับใช้มาอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ Julian Fellowes สามารถสร้างบทสนทนาเจ๋งๆ สอดแทรกลงไปตลอดเรื่อง คือแทบทุกตอนที่ตัวละครคุยกันนั้นเราจะไม่ได้เห็นแค่การพูดกันแบบธรรมดาหรือพูดกันด้วยเรื่องสัพเพเหระที่ไม่สลักสำคัญ ทว่าเราจะได้ยินบทพูดที่สื่อถึง “ตัวตน” ของตัวละครอยู่ตลอดเรื่อง แค่คำพูดออกจากปากเราจะรู้ว่าคนไหนมีมารยาท คนไหนเห็นแก่ตัว คนไหนบ้าอำนาจ คนไหนซ่อนความเจ็บปวดไว้ ซึ่งของดีสองอย่างนี้ (ดารา+บท) เมื่อมารวมกัน ความเข้มของหนังเลยอยู่ในระดับที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

“ความเข้ม” ที่ว่านั้นคือสำหรับคนชอบดูหนังพีเรียดดราม่า หากคุณไม่ได้อยู่ในข่ายนี้ก็อาจรู้สึกว่าหนังน่าเบื่อได้

ประเด็นการสะท้อนสังคมชั้นสูงของหนังก็เป็นอะไรที่เข้าท่าเหมือนกันครับ มันสื่อเรื่องจริงที่หลายคนลืม (หรือเป็นทำเป็นลืม) เช่น

แม้คนรับใช้จะดูต่ำต้อยกว่า แต่เอาเข้าจริงพวกเขาก็มีความคิดและความสามารถไม่น้อยไปกว่าเจ้านาย ยิ่งเรื่องความอดทนแล้วมีมากกว่ามาก และในหลายกรณีหากไม่มีผู้รับใช้แล้ว เจ้านายก็จะทำอะไรไม่ถูก แทบง่อยกินเลยก็มี

คนรวยก็มีทั้งที่ดีและไม่ดีครับ ที่รักผู้รับใช้เหมือนครอบครัว ดูแลอย่างดี คอยสอนแลกเปลี่ยนความรู้และให้เกียรติคนอื่นก็มี แต่คนที่กดขี่ผู้รับใช้ เป็นแต่ฝ่าย “เอาๆๆๆ” ไม่ยอมให้ ไม่ยอมเอื้อเฟื้อ ที่สุดแล้วคนที่ต้องลำบากยามผู้รับใช้หมดความอดทนก็คือตัวเองนั่นแหละ

คนรับใช้ก็เหมือนกันครับ ที่ดีที่ซื่อสัตย์ก็มี ส่วน หรือที่ชอบประจบ ชอบนินทา หรือชอบหาเรื่องคนอื่นนี่ก็มีเหมือนกัน อันนี้ไม่ต่างจากคนรวยที่ก็มีดีและไม่ดีได้ ก็เป็นการแอบกัดเล็กๆ ว่า “จะรวยหรือจนก็คนครือกัน สามารถดีและไม่ดีได้ครือๆ กัน ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับตนเองว่าจะเลือกยังไง”