ค้นหาหนัง

Kabhi Khushi Kabhie Gham | ฟ้ามิอาจกั้นรัก

Kabhi Khushi Kabhie Gham | ฟ้ามิอาจกั้นรัก
เรื่องย่อ : Kabhi Khushi Kabhie Gham | ฟ้ามิอาจกั้นรัก

เล่าเรื่องราวครอบครัวมหาเศรษฐีไรชัน ราหุล (Shah Rukh Khan) ลูกชายคนโตของบ้านถูกยาช (Amitabh Bachchan) ผู้เป็นบิดาตัดขาดความเป็นพ่อลูกและไล่ออกจากบ้านหลังจากที่เขาเลือกแต่งงานกับอัญชลี (Kajol) หลายปีผ่านไปโรฮาน (Hrithik Roshan) ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ทราบเรื่องราวทั้งหมด เขาจึงคิดจะออกตามหาราหุลและอัญชลีให้กลับบ้าน..กลับสู่ครอบครัวไรชาน

IMDB : tt0248126

คะแนน : 8



Kabhi Khushi Kabhie Gham… (2001) หรือ ‘กาบี คูชิ กาบี กัม’ เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อและลูกชายคนโตเลวร้ายจนไปถึงการตัดขาดและไล่ออกจากบ้าน น้องชายคนเล็กจึงพยายามเป็นกาวใจให้ทั้งสอง ภาพยนตร์ดราม่าเรื่องนี้จัดอยู่ในระดับบล็อกบัสเตอร์สุดคลาสสิกของแดนภารตะ นำแสดงโดยนักแสดงเกรดเอ อาทิ Shah Rukh Khan, Amitabh Bachchan, Kajol เป็นต้น คำว่า Kabhi Khushi Kabhie Gham แปลเป็นไทยว่าบางครั้งสุข บางครั้งเศร้าแต่ใช้ชื่อโปรโมทในไทยว่า ‘ฟ้ามิอาจกั้นรัก’

หนังเรื่องนี้แค่เห็นรายชื่อนักแสดงก็เรียกได้ว่าน่าสนใจมากๆ เพราะมีแต่ตัวท็อปของวงการทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Shah Rukh Khan และ Kajol ดาราคู่ขวัญสุดนิยมที่มีเคมีดีงามเข้ากันอย่างเหลือเชื่อ ต่อมาคือนักแสดงอาวุธโส Amitabh Bachchan ควงภรรยา Jaya Bachchan กลับมาแสดงหนังฃด้วยกันอีกครั้งซึ่งทั้งคู่รับบทเป็นพ่อและแม่ของครอบครัวไรชัน, และเป็นผลงานแจ้งเกิดในวงการบอลลิวู้ดของ Hrithik Roshan และ Kareena Kapoor โดยนักแสดงทั้งหกชีวิตนี้ถ่ายทอดผลงานการแสดงแบบไม่มีใครยอมใครเลย ฉากตลกทำออกมาได้น่ารักสุดๆ พอฉากเศร้าก็พาคนดูร้องไห้ตามแบบหยุดไม่อยู่ แต่คนที่เฉิดฉายที่สุดในหนังคงต้องยกให้กับ Jaya เพราะแม่ยังไงก็คือแม่ เธอมีซีนน้อยสุดแต่กลับมีอิมแพ็คเยอะที่สุด ทั้งนี้เธอเองได้รับรางวัลจาก Filmfare Awards หรือ ออสการ์บอลลิวู้ด ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม รวมถึง Kajol ที่ได้รับราวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน

Kabhi Khushi Kabhie Gham…ตั้งใจนำเสนอความเป็นบ้านตั้งแต่สเกลเล็กที่เป็นครอบครัว จนไปถึงสเกลใหญ่ในแบบประเทศบ้านเกิด ผ่านการเล่าเรื่องที่ตัวละครหลักถูกไล่ออกจากบ้านเกิดและอพยพไปอยู่ไกลเกือบอีกซีกโลก โดยขอมาโฟกัสที่ระดับครอบครัวก่อน ตรงนี้หนังตั้งใจพูดถึง’แง่คิด’ภายในสมาชิกครอบครัว การปฏิบัติต่อกันในเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงเข้าถึงได้ง่าย เช่น การมอบความรักดูแลซึ่งกันและกัน, การเชื่อฟังบิดามารดาตอบแทนบุญคุณ และปมหลักของเรื่อง ‘การทะเลาะ/ความไม่เข้าใจกัน’ ของคนสองช่วงวัย ฝ่ายหนึ่งที่ต้องการการได้รับความยอมรับ กับอีกฝ่ายที่ถือทิฐิอยากให้อีกฝ่ายมาเข้าหาก่อน ต่อมาคือเรื่องบ้านในรูปแบบที่ในระดับ mother land หรือในหนังก็คืออินเดีย หนังต้องการให้พระเอกกลับไปสู่ครอบครัวที่เขาเติบโตมา กลับไปหาอ้อมอกผู้เป็นแม่และปรับความเข้าใจกับพ่อ ผ่านการบิ้วให้เขาเห็นว่าลูกชายที่เติบโตกลางกรุงลอนดอนนั้นหลงลืมความเป็นอินเดียไปหมด แม้แต่เพลงชาติก็ยังร้องไม่ได้ ซึ่งไอเดียในการพูดถึงบ้านในรูปแบบใหญ่นั้นค่อนข้างน่าสนใจ ติดตรงที่วิธีการเล่านั้นดูยิ่งใหญ่เกินตัว จงใจพูดหลายประเด็นเกินไป แต่ทั้งนี้ซีเคว้นช่วงร้องเพลงชาติอินเดียของลูกชายพระเอกกลับทำออกมาได้ทรงพลังน่าประทับใจเสียอย่างนั้น

นอกจากนี้พอพูดถึงความเป็นครอบครัว หนังดึงองค์ประกอบความเป็นวัฒนธรรมเข้ามาใช้ ส่งผลให้หนังดูมีพลังคนดูยิ่งรู้สึกอินเข้าไปกว่าเดิม อย่างเช่นเทศกาลดิวาลีในตอนเปิดเรื่อง โดยเทศกาลดังกล่าวสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ ผู้คนมักซื้อ

ของมากมายมาผลัดเปลี่ยนจากของเก่า ชาวฮินดูนิยมจุดไฟ เชื่อว่าจะนำสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต Karan ผู้กำกับนำความหมายตรงนี้เข้ามาประกอบใช้กับการเปิดตัวหนัง เปิดตัวพระเอก เพราะเขาคือลูกชายที่กลับมาหาครอบครัวหลังเรียนจบหมาดๆ ต่อมาคือเทศกาลการ์วาจอธ วันสำคัญของเหล่าภรรยาชาวฮินดูที่จะทำพิธีให้สามีตัวเองแข็งแรงและอายุมั่นขวัญยืน รวมถึงแม่สามีก็จะส่งของให้ลูกสะใภ้ด้วย Karan นำประโยชน์จากเทศกาลดังกล่าวที่สื่อถึงความเป็นครอบครัวเข้ามาใช้ในตัวหนังผ่านฉากความฝันของโรฮาน โดยเป็นฉากที่สมาชิกทุกคนกลับมาร่วมฉลองทั้งร้องและเต้นในวันเทศกาลด้วยกัน ทั้งนี้ฉากดังกล่าวเป็นฉากไฮไลท์เด็ดของเรื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการเต้นที่ยิ่งใหญ่อลังการที่สุดแล้วหนังยังแอบเสียดสีความสัมพันธ์ของยาชและนานดินีในโลกความเป็นจริงที่ดูเหมือนจะมาถึงทางตันแล้ว 

หนังมีความยาวถึง 3 ชั่วโมงและถ้าเราแบ่งหนังออกเป็นสามท่อน ช่วงแรกกับช่วงท้ายหนังทำออกมาได้ดี แต่ช่วงกลางเรื่องเละเทะไปหน่อยเพราะมีทั้งซัพพล็อตที่ไม่จำเป็นต่อเรื่องหลักและเพลงเต้นเพลงร้องที่เยอะไปซึ่งไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องเดิน อย่างไรก็ตามในแง่ของโปรดักชั่นส่วนดังกล่าวกลับทำออกมาได้ดี ฉากการเต้นของพระ-นางในงานแต่งเป็นหนึ่งในส่วนที่ดีที่สุดของหนังเพราะนอกจากจะทำออกมาได้ยิ่งใหญ่สวยงามแล้วยังสามารถเล่าเรื่องไปในตัวได้ด้วย 

ด้านฝ่ายกำกับศิลป์และเทคนิคการถ่ายทำอยู่ในระดับดีเยี่ยม เช่น การใช้กล้องแพนแบบ 360 องศาสร้างความรู้สึกดราม่า หรือจะเป็นการเคลื่อนกล้องที่ดูมีมิติสวยงามจากตัวละครหนึ่งไปสู่อีกตัวละครหนึ่ง งานเสื้อผ้าคอสตูมจัดเต็มร้อย หนังใส่ใจในรายละเอียดอย่างดี เช่น ยาช ใส่ชุดดำทั้งเรื่องดูแข็งกร้าว พอท้ายเรื่องห่มขาวกลายเป็นชายแก่ที่ดูใจดีไปเลย

โดยรวมหนังพูดถึงความเป็นบ้าน ความเป็นครอบครัวตั้งแต่สเกลเล็กไปถึงใหญ่ ในครอบครัวเราต้องดูแลซึ่งกันและกัน เคารพรักบุพการี และการยอมลดทิฐิของแต่ละฝ่าย ส่วนในสเกลใหญ่คือรักบ้านเกิด อย่าหลงลืมความเป็นอินเดีย Kabhi Khushi Kabhie Gham…เป็นหนังดราม่าครอบครัวที่ดูแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ หนังมีทั้งฉากโรแมนติกจิกหมอน ฉากตลกน่ารัก และฉากร้องไห้น้ำตาร่วงดังเช่นชื่อของหนัง…บางครั้งสุข บางครั้งเศร้า