ค้นหาหนัง

King of Comedy | คนเล็กไม่เกรงใจนรก

King of Comedy | คนเล็กไม่เกรงใจนรก
เรื่องย่อ : King of Comedy | คนเล็กไม่เกรงใจนรก

King of Comedy เป็นเรื่องราวแสนสนุกที่เกิดขึ้นกับ Wan Tin Chau (โจวซิงฉือ) นักแสดงหนุ่มมากฝีมือแต่ขาดโอกาส ได้บังเอิญมาพานพบกับสาวสวยสองคนในรูปแบบของรักสามเส้าเข้า แต่ชีวิตหนอชีวิต แค่นี้คงจะสร้างความวุ่นวายให้พ่อหนุ่ม Wan Tin Chau ไม่พอ ก็ได้เกิดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมขึ้นกับเขาอีก แล้วที่นี้จะทำยังไงกันดีเนี่ย

IMDB : tt0188766

คะแนน : 9



เรื่องนี้ โจวซิงฉือแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีดีแค่เล่นหนังตลกคาเฟ่ (Slapstick) เพียงอย่างเดียว แต่ยังเล่นหนังชีวิต (Tearjerker) ได้ดีไม่แพ้กันด้วย

King of Comedy เป็นหนังแนวโรแมนติกคอเมดี้ที่ฉีกไปจากผลงานหลายเรื่องของโจวซิงฉือ มันไม่ได้เอาแต่ยิงมุกแสกหน้าหรือฮาทะเล็ดเรี่ยราด แต่ให้ความรู้สึกขำปะแล่ม ๆ สอดแทรกเนื้อหาตลกร้ายที่ดูแล้วหดหู่ใช่เล่น ทั้งนี้เพราะอ้างอิงจากส่วนหนึ่งของชีวิตจริงเมื่อครั้งที่เขาเริ่มอาชีพการแสดงจากการเล่นเป็นตัวประกอบ

เรื่องนี้ แคเรกเตอร์ของพระเอกมีลักษณะเป็น Loser/Underdog ซึ่งดูเหมือนว่าโจวซิงฉือจะชอบสวมบทบาทแบบนี้ในงานช่วงหลัง ๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บขยะใน "นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่" (Shaolin Soccer) 2001, โจรกระจอกใน "คนเล็กหมัดเทวดา" (Kung Fu Hustle) 2004 และคนงานก่อสร้างใน "คนเล็กของเล่นใหญ่" (CJ7) 2008 ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาให้คนดูรู้สึกสงสารและเอาใจช่วยพระเอกให้ประสบความสำเร็จ ตลอดทั้งเรื่องตัวละครของเขาต้องเผชิญกับความผันผวนเป็นกระแสคลื่น ระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งการถูกปฏิเสธ > การได้งาน > ถูกปฏิเสธ > ได้งาน ขึ้นลงเช่นนี้ไม่มีหยุดหย่อน อาจพูดได้ว่าชีวิตของอาเฉาต้องผจญกับความผิดหวังและความสมหวังสลับกันไปอย่างต่อเนื่อง เราจะได้เห็นความชอกช้ำทางจิตวิญญาณ ความขื่นขมที่แสดงผ่านทางแววตา และความว่างเปล่าที่ปรากฏบนใบหน้ายามส่องกระจกของตัวละครตัวนี้

สิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้กับหนังของโจวซิงฉือแทบทุกเรื่องคือตัวประกอบที่มีบุคลิกแปลกประหลาด ซึ่งเรื่องนี้ก็จัดมาให้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจิ๊กโก๋จอมไถพร้อมลูกสมุนหน้าตาบ้องแบ๊ว อาเสี่ยตามหารักแท้ในซ่อง สาวบาร์ที่มาขอให้พระเอกสอนวิธีอ่อยผู้ชาย ตำรวจสายลับกวนบาทา เป็นต้น และยังพ่วงไปด้วยดาราคู่บุญอย่างอู๋ม่งต๊ะ ที่เล่นเข้าขากันแทบทุกเรื่อง

ดูหนังโจวซิงฉือมาก็หลายเรื่อง สังเกตได้ถึงความเอาใจใส่ในการแคสต์นักแสดงสมทบของเขาเป็นอย่างมาก เพราะเล่นดีไม่แพ้ตัวละครหลักเลย บางแคเรกเตอร์ถึงกับแย่งซีนโจวซิงฉือก็มี และที่จะขาดไม่ได้ก็คือการใส่ฉากคารวะบรูซ ลี ซึ่งเป็นอีกกิมมิคหนึ่งที่โจวซิงฉือมักใส่เข้ามาในหนังหลายเรื่องของเขา

สำหรับข้อเสีย ผมมองว่าแทบจะไม่มี เพราะตัวละครที่ใส่เข้ามามีความสำคัญกับเส้นเรื่องและเสริมความฮาระหว่างทาง อาจมีบ้างที่นอกลู่นอกทางไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของเรื่องโดยไม่หลุดไปไกลจนเสียภาพรวม

สรุปแล้ว แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้โดดเด่นในแง่ของเทคนิคการถ่ายทำ (Cinematography) นัก แต่ความแพรวพราวในด้านการเล่าเรื่อง (Storytelling) ก็เข้มข้นจนทำให้ผมลุ้นไปกับตัวละครจนจบ แน่ล่ะว่าสไตล์การยิงมุกของโจวซิงฉือยังคงแทรกอยู่ในทุกอณูของเนื้อเรื่อง แต่เขาได้ลดความสำคัญของมันลงและใส่ใจกับรายละเอียดของตัวละครมากขึ้น ซึ่งเขาได้พัฒนาเทคนิคการเล่าเรื่องนี้ให้เก๋าเกมยิ่งขึ้นในหนังเรื่องต่อมาจนเสริมให้เขากลับมาโด่งดังเป็นพลุแตกอีกครั้งกับ Shaolin Soccer (2001) และ Kung Fu Hustle (2004)