ค้นหาหนัง

Lucky Loser | หมากเตะรีเทิร์นส

Lucky Loser | หมากเตะรีเทิร์นส
เรื่องย่อ : Lucky Loser | หมากเตะรีเทิร์นส

เมื่อไม่ได้รับเลือกให้เป็นโค้ชดังที่หวัง นักเตะชื่อดังก็ตัดสินใจรับข้อเสนอของคุณน้าเศรษฐีนีให้รวมทีมนักเตะหน้าใหม่ขึ้นมาเองในประเทศเพื่อนบ้าน

IMDB : tt0963925

คะแนน : 7



ผมสังเกตหนังของ GTH มาหลายต่อหลายเรื่องในช่วงหลังๆนับตั้งแต่ วัยอลวน 4 ผมพบว่า จุดร่วมหนึ่งที่ดึงดูดผมชนิดต้องชมทุกครั้งที่เขียนเสมอ คือ การที่ GTH ช่างสรรหา นักแสดงสาวๆได้น่ารักเสียทุกเรื่อง และ เธอเหล่านั้นต่างก็เล่นหนังเป็น ไม่ใช่แค่มีบทแค่ทำสวยในหนังอย่างเดียว

ส่วนจุดร่วมอื่นๆที่เป็นเอกลักษณ์เด่นชัด คือ งานสร้างที่ดูดี , การถ่ายภาพที่สวยงาม และ บทที่ไม่สะเปะสปะ เรียกได้ว่า หากเทียบหนังเป็นบ้าน หนังทุกเรื่องของ GTH ค่อนข้างไว้ใจได้ในเรื่องของ โครงสร้าง ขายได้ในแง่ของภาพลักษณ์ เข้าไปอยู่ก็น่าจะให้ความพึงพอใจไม่เสียดายตังค์ แต่ หากสนใจในเรื่องของรายละเอียดภายใน จะพบความแตกต่างที่เห็นชัดกว่าภายนอก แม้บ้านเหล่านี้จะเกิดจากสถาปนิกก๊วนเดียวกันจากทีมแฟนฉันก็ตาม

ไล่มาตั้งแต่ แฟนฉัน , เพื่อนสนิท , เด็กหอ จนถึง ซีซั่นเชนจ์ ทั้งสี่เรื่องสามารถจัดเป็นหนังแพ็กเกจเดียวกัน คือ ไม่ต้องบอกชื่อผู้กำกับ แค่ตัดมาสองสามฉากก็พอเดาได้ว่าเป็นหนังมาจากที่ไหน นี่เป็นทั้งจุดแข็งคือ คนดูค่อนข้างมั่นใจในการเสียเงินเข้าไปดู และ นี่ก็กำลังจะกลายเป็น จุดอ่อนของทีมนี้ ตรงที่ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับหนังตัวเอง ไม่สามารถสลัดความเป็นหนังในแนวโหยหาอดีตได้พ้น และ คนก็อาจจะเริ่มรู้สึกได้ว่าจำเจ

หมากเตะรีเทิร์นส เป็น งานชิ้นแรกของทีมแฟนฉันที่เดินออกมาจาก ภาพลักษณ์หนังตระกูลวันวานยังหวานอยู่

มองแค่ภาพภายนอก หรือ ดูแค่เอาเพลิน หมากเตะรีเทิร์นส สอบผ่านไปอยู่กลุ่มเดียวกับ 4 เรื่องข้างต้นได้ เป็นอีกหนึ่งหนังไทยที่ดูสนุกเพลินๆ แต่ หากลองสนใจในรายละเอียดมากขึ้นอีกนิด ก็จะพบเห็นว่า บ้านหลังนี้แม้มีโครงที่คล้ายคลึง มีรูปภายนอกที่ดูดีใช้ได้ แต่รายละเอียดภายในไม่ได้เนี้ยบ และ ดีเท่าเรื่องก่อนๆ

หมากเตะรีเทิร์นส เป็นหนังที่น่าจะขายได้ไม่ยาก(ถ้าไม่โดนแบนไปเสียก่อน) กับ พล็อตประเภท กลุ่ม loser หรือ underdog ต้องมาต่อสู้เพื่อเอาชนะความฝัน ตัวอย่างที่ดีของหนังตระกูลนี้ที่เกี่ยวกับกีฬาก็เช่น cool runnings

พล็อตของหมากเตะจัดได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ขายได้ ดังนั้น พล็อตประเภทนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง (แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะซาไกยูไนเต็ด ก็ไปไม่รอดมาแล้ว)

แต่ หมากเตะรีเทิร์นส มีพล็อตรองที่ทำให้ผมอยากดูหนังเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ คือ พล็อตที่พูดถึง ความขัดแย้งของพระเอกที่เป็นคนไทย ต้องไปทำทีมให้กับชาติอื่น กลับมาสู้กับคนไทยด้วยกันเอง

พงศ์นรินทร์ อุลิศ โค้ชฟุตบอลระดับอินเตอร์คุมทีมอยู่ต่างแดน ตัดสินใจลาออกเพื่อหวังจะกลับมาเป็นโค้ชทีมชาติไทย ทำทีมไทยไปบอลโลก แต่แล้วก็ถูกดัดหลังจากนายกสมาคม(ในหนัง)ที่ไม่ได้เรื่อง ดูไม่เคยสนใจใครและเอาใจตัวเองเป็นใหญ่ ตัดสินใจเลือกโค้ชฝรั่งมาทำแทน ทำให้ พงศ์นรินทร์ ต้องกระเด็นไปอย่างเสียหน้า และ ทำให้เขาเลือกไปเป็นโค้ชให้กับทีมอาวี ประเทศบ้านพี่เมืองน้องของไทย ก่อนที่เส้นทางการแข่งขันจะทำให้สองชาตินี้ต้องมาพบกันเพื่อหาผู้ชนะหนึ่งเดียวที่จะเป็นตัวแทนโซนเอเชียไปบอลโลก


ปมขัดแย้งในตัวละครนี้ มีดีและแรงพอที่จะผลักดันให้ หมากเตะ กลายเป็นหนังคอมิดี้เจ๋งๆเรื่องหนึ่ง เป็นหนังที่มีบทแข็งแรงและมีดีมากไปกว่า การต่อสู้ของกลุ่มคนตัวเล็กๆ

น่าเสียดาย ที่ ตัวบทของหมากเตะ ไม่สามารถพาหนังไปได้ไกลพอ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ การต่อสู้ของทีมรองบ่อน หรือ ในส่วนของความขัดแย้งในใจพระเอก หนังล้วนสัมผัสประเด็นเหล่านี้แค่ผิวเผินมาก ตัวละครที่เป็นนักฟุตบอลของทีมอาวีที่เป็นเหมือนตัวชูโรง แต่หนังกลับไม่สามารถสร้างความน่าประทับใจให้กับตัวละครเหล่านั้น ไม่ต้องดูตัวอย่างอื่นไกล Shoalin soccer ก็พูดถึงทีมฟุตบอลในหนังตลกเหมือนกัน แต่ หนังสามารถสร้างเอกลักษณ์ของตัวละครได้มีความลึกมากกว่าเรื่องนี้ ที่เราจะได้รู้จัก ตัวละครซึ่งสามารถบรรยายลักษณะเฉพาะตัวด้วยคำเพียงสี่ห้าคำ เช่น นักเตะพลังช้าง นักเตะอารมณ์ร้อน นักเตะหน้าหล่อมีความรัก นักเตะบ้าผู้หญิง แถม นักเตะบางคนก็ถูกลืมไปจนเหมือนไม่มีบทบาทอะไรเลย เช่น คนที่มารับบทโกล์ในเรื่องที่แทบจะไม่ได้พูดอะไร

พอรู้จักตัวละครแค่ตื้นเขินเช่นนี้ สิ่งที่หนังจะพาคนดูไปก็พาไปได้ไกลแค่ ความฮา แต่การจะพาอารมณ์คนดูไปให้รู้สึกร่วมของการมุ่งมั่น หรือ การร่วมมือฝ่าฟันอุปสรรคนั้น เป็น ความล้มเหลวในหนัง ซึ่งปกติ ในส่วนนี้นั้นควรจะเป็นของตายในหนังสูตรนี้

ดูได้จากบทพูดที่ คอนเซ็ปท์ดี ประโยคเด็ด แต่ พอตัวละครพูดออกมา มันกลับไม่มีพลัง ไม่ปลุกเร้า ไม่อิน ไปกับเหตุการณ์ในหนัง ขั้นตอนในการพัฒนาการอารมณ์ของหนังกระท่อนกระแท่น และ ไม่ทำให้รู้สึกคล้อยตาม เช่นในฉากที่น้อย โพธิ์งามลุกขึ้นมาปลุกใจ , ฉากที่โค้ชประกาศสู้กับทีมชาติไทย หรือ ฉากที่โค้ชบอกให้เล่นตามใจต้องการ ฯลฯ ทั้งที่มันเป็นสูตรชนิดทำให้คนดูรู้สึกหัวใจพองโตแน่ๆ แต่ ตัวละครพูดจบกลับไม่รู้สึกอะไร มิหนำซ้ำบางคนยังอาจรู้สึกขัดๆเสียด้วยซ้ำ

นั่นเป็นเพราะนอกจากความผิวเผินจะเกิดกับตัวละคร ตัวบทเองก็ขาดรายละเอียดและเล่าเรื่องเพียงผิวเผิน หวังเพียงจะใช้สูตรสำเร็จไปนิด พอถึงจุดเร้าอารมณ์ก็ใส่มันเข้าไปเหมือนไม่มีที่มาที่ไป

ตัวอย่างตอนที่โค้ชบอกให้ลูกทีมเล่นให้สนุกไม่ต้องคิดอะไรมาก ก็ ตัวนักเตะไม่ได้เล่นบอลแบบสนุกๆอยู่แล้ว พล็อตส่วนนี้เหมือนกับการ์ตูนเรื่อง วัยกระเตาะตึงตึ่งตึ๊ง ที่ประมาณว่า ตัวเอกเป็นนักเปียโนที่รักการเล่นแบบไม่มีกรอบเกณฑ์ เขาชอบเล่นเปียโนในป่า ดังนั้นเวลาแข่งตอนแรกๆเขาจึงไม่ถนัด สุดท้ายเขาก็ต้องเล่นแบบที่ตัวเองชอบจึงแสดงศักยภาพตัวเองได้เต็มที่ แต่ นักเตะทีมอาวี บทหนังไม่ได้บอกให้เรารู้มาก่อนเลยว่า พวกเขาเล่นฟุตบอลเพราะรัก หรือ เล่นแบบสนุกแล้วจะเล่นได้ดี

ซึ่งถ้า ตอนแรกฉายให้เห็นภาพของนักฟุตบอลทีมนี้ เล่นบอลแบบสนุกๆ แล้วถูกบังคับให้มีแผน จนเสียตัวตนไป ฉากนี้จึงจะมีความหมาย หลายๆฉากในหนังก็ประสบภาวะเช่นนี้ นั่นคือ ตบเข้าสูตร แต่พอเข้าสูตรแล้วพาอารมณ์คนดูไปต่อไม่ได้

มุกตลกในหนังส่วนใหญ่ผมก็ขำ และ คนดูในโรงก็ขำ แต่เป็นความขำที่ไม่คม เป็นความขำในระดับกลางๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ผมเองชอบมุกง่ายๆของแก๊งสามช่าแต่ฮาสุดๆ หรือ มุกคมๆที่ยิ้มไปชมคนคิดไปอย่างในเพื่อนสนิทหรือซีซั่นเช้นจ์ มากกว่า มุกในหนังเรื่องนี้

ประการสำคัญ ผู้กำกับ ยังค่อนข้างไม่แม่นยำในจังหวะของการเล่นมุก หลายมุกที่ถูกปล่อยออกมามันไม่โดนจังๆ คนดูขำเพราะตัวมุกที่มันสำเร็จรูปชนิดใครเล่นก็ฮา บวกกับความสามารถของนักแสดงบางคน แต่เชื่อว่า หากจัดจังหวะให้ดีบวกขยี้มุกให้ตรงจุด ยังจะฮากว่านี้ได้อีก มันเหมือนกับมุกตลกประเภทโป๊งชึ่ง ที่แม้จะมีพูดจะเล่นด้วยบทเดียวกัน ตีด้วยถาดเดียวกัน แต่ หากทีมที่เล่นต่างกัน ผลลัพธ์ก็ได้ความฮาต่างกัน

สิ่งที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ คือ การคัดตัวนักแสดงที่เลือกมาได้ดี เช่น ตัวพระเอกที่รับบทโค้ช , บทของน้อย โพธิ์งาม , บทนางเอก(น่ารักมั่กๆ ดูจบแล้วคิดถึงภูมิแพ้ของตัวเอง ไม่เห็นมีใครมาทาวิคส์ให้เลยวุ้ย) ฯลฯ นักแสดงเหล่านี้มีบุคลิกที่เข้ากับบทและทำให้ตัวละครนั้นดูดีขึ้นแม้ตัวบทจะอ่อนยวบก็ตาม

และ อารมณ์ในสนามฟุตบอลก็ถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว น่าแปลกที่ผมไม่อินกับ ฉากเตะบอลใน Goal ซักเท่าไหร่ ยกเว้นฉากยิงฟรีคิก(ใน goal เหมือนผู้กำกับจะไม่ได้ชอบดูบอล เลยกำกับอารมณ์ในสนามบอลไม่ได้ฟีลคนเชียร์บอล) แต่พอมาเรื่องนี้ ผมกลับรู้สึกสนุกและลุ้นขณะเตะบอลในสนามมากกว่า ยิ่งได้สีหน้าอารมณ์ของนักแสดงประกอบที่มาเล่นเป็นกองเชียร์ก็ดูช่วยปลุกระดมความตื่นเต้นได้ดี

ประเด็น ไทย – ลาว ที่เกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต จนนำมาซึ่งการแบน หากดูในฐานะคนไทย ก็ไม่รู้สึกว่า หากเปลี่ยนอาวี เป็น ลาว จะแย่อย่างไร เพราะ หนังไม่ได้มีทีท่าดูถูกชนชาติลาว แต่ หากลองดูในฐานะคนลาว ก็อาจจะไม่รู้สึกดีนัก ที่เห็นคนชาติอื่นเอาตัวละครชาติตัวเองไปทำอะไรตลกๆ ดังนั้น การเปลี่ยนเป็นชาติ อาวี หากเปลี่ยนเพราะทางลาว ไม่สบายใจ ส่วนตัวแล้วก็เห็นด้วยอยู่ เพราะความ สำคัญของการที่ต้องเป็นประเทศลาว มีอยู่แค่ฉากเดียว คือ ฉากที่น้อยพูดในห้องเก็บตัวตอนทะเลาะ นอกจากนั้น หนังจะเปลี่ยนเป็นชาติไหนก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไรต่อเนื้อหา ขอแค่ว่า เป็นประเทศที่ฟุตบอลยังไม่พัฒนาก็พอ และ การเปลี่ยนจาก ลาว มาเป็น อาวี ในหนังก็ทำได้ไหลลื่นไม่สะดุดแต่อย่างใด