ค้นหาหนัง

The Age of Innocence | วัยบริสุทธิ์ มิอาจกั้นรักได้

The Age of Innocence | วัยบริสุทธิ์ มิอาจกั้นรักได้
เรื่องย่อ : The Age of Innocence | วัยบริสุทธิ์ มิอาจกั้นรักได้

เรื่องราวความรักของหนุ่มสาว 3 คนในสังคมชั้นสูงในนิวยอร์กช่วงปี 1870 ซึ่งในยุคนั้นคนทั่วไปเห็นว่าการหย่าร้างเป็นการละเมิดกฏ เอลเลน โอเลนสก้า คือสาวงามที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงกำลังจะหย่ากับสามีโดยไม่สนผลกระทบที่ตามมาจากเหล่าชนชั้นสูง ด้วยความมั่นใจไม่เสแสร้งนั้นทำให้นิวแลนด์ อาร์เชอร์ ตกหลุมรักเอลเลน แต่เขาจะต้องแต่งงานกับเมย์ เวลแลนด์ สาวงามผู้ชาญฉลาด ตามธรรมเนียมของชนชั้นสูง และเขาก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ด้วย นิวแลนด์จึงต้องเสี่ยงหาทางพิสูจน์ความรักที่มีต่อเอลเลนให้ได้

IMDB : tt0106226

คะแนน : 7



ผมไม่นิยมหนังของมาร์ติน สกอร์เซซี นัก เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบหนังที่มีภาพรุนแรง หรือฉากโหดๆ ที่ดูสมจริง จึงไม่คุ้นเคยกับหนังของเขานัก แม้จะรู้จักดีว่าเคยกำกับหนังสำคัญๆ เรื่องใดมาบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้สนใจอยากดู The Age of Innocence เมื่อครั้งที่ออกฉายในโรงเกือบสิบปีก่อนก็เพราะการที่สกอร์เซซีหันมากำกับงานที่ผิดจากธรรมเนียมที่เขามักนำเสนอ จากหนังโหดๆอย่าง Goodfellas หรือ Taxi Driver มาเป็นหนังจากวรรณกรรมที่พูดถึงชีวิตและความรักของคนในอดีตแบบที่มักพบกับหนังของเมอร์ชานต์-ไอวอรี และสกอร์เซซีก็สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้อย่างงดงามและอย่างอัจฉริยะ

หนังเปิดเรื่องด้วยการนำเรารู้จักสังคมชนชั้นสูงของนิวยอร์กในช่วงวิคทอเรียน ช่วงปี 1870 ในโอเปร่าเฮาส์ที่ทุกคนแต่งองค์ทรงเครื่องกันเต็มยศและหรูหรา แต่เพียงไม่ช้าก็ได้ให้เราเห็นนิสัยใจคอของผู้คนในสังคมนี้ เพราะแทนที่จะสนใจชมโอเปร่า ผู้คนที่นี่กลับส่องกล้องคอยจับผิดกัน และเพียงไม่ทันไรที่เคาน์เตสเอลเลน โอเลนสก้า (มิเชล ไฟเฟอร์) มาถึง ก็มีเสียงติฉินนินทาแล้วว่าญาติพี่น้องของเธอไม่ควรนำเธอออกงาน ทั้งนี้เพราะเธอไม่คุ้นและไม่นิยมธรรมเนียมปฏิบัติของชาวนิวยอร์ก รวมถึงการที่มีเรื่องอื้อฉาวกับสามีชาวยุโรป และหนังก็นำเสนอให้ผู้คนที่ตั้งตนเป็นผู้ชำนาญในเรื่องกรอบประเพณีและช่างขุดคุ้ยเรื่องของผู้คนมาตีแผ่สร้างความเจ็บช้ำให้แก่กัน และนั่นคือโลกของตัวละครในเรื่อง โลกที่ทรงตัวโอนเอนที่ซึ่งความสมานฉันท์สั่นคลอนได้ด้วยลมปาก

“This was a world balanced so precariously that its harmony could be shattered by a whisper.”

นิวแลนด์ อาร์เชอร์ (เดเนียล เดย์-ลูอิส) ชายหนุ่มรูปงามแห่งตระกูลอาร์เชอร์ ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตา และเป็นตระกูลใหญ่ ตัดสินใจประกาศการหมั้นของเขากับหญิงสาวที่เขาจะแต่งงานด้วย เมย์ เวลแลนด์ (วิโนนา ไรเดอร์) หญิงสาวผู้อ่อนหวานใสซื่อต่อเล่หกลใดๆ ในความคิดของนิวแลนด์ ผู้เป็นญาติผู้น้องของเคาน์เตสโอเลนสก้า เพื่อให้ดูว่าสองตระกูลหนุนหลังเคาน์เตสให้เป็นที่ยอมรับแก่วงสังคม ด้วยเพราะสงสารและเมตตาเธอ ทั้งนิวแลนด์และเคาน์เตสโอเลนสก้ารู้จักกันมาก่อนตั้งแต่เด็ก ก่อนที่เธอจะไปแต่งงานและอยู่ที่ยุโรป

จากท่าทีของนิวแลนด์เมื่อแรกพบเธออีกครั้ง ก็พอดูออกว่าเขาอาจเคยหลงรักเธอมาก่อน แต่มาดามโอเลนสก้าอาจเคยหลงรักชายอื่นอยู่ และอาจเพราะรักความถูกต้องและทนไม่ได้ที่เห็นสังคมรังเกียจเธอเพียงเพราะเธอมีเรื่องหย่าร้าง และความเป็นหญิงที่ดูลึกลับ รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ซึ่งแปลกจากคนอื่นๆ ทำให้นิวแลนด์ชื่นชอบเธอและหาทางช่วยเธอให้เป็นที่ยอมรับ โดยการร้องขอต่อผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลในวงสังคมให้ช่วยส่งเสริมเธอ ตรงนี้เองที่ทำให้ทั้งคู่ได้สนิทสนมกันมากขึ้น และหลงรักกันและกันในที่สุด แม้ฝ่ายหนึ่งมีคู่หมั้น และอีกฝ่ายยังไม่ได้หย่าร้าง

นิวแลนด์พยายามเร่งรัดเพื่อจะแต่งงานกับเมย์ เพราะกลัวว่าความรักที่เขามีต่อมาดามโอเลนสก้าจะเพิ่มพูนขึ้น จนทำให้เขาทำผิดต่อเธอ ในขณะที่มาดามโอเลนสก้าก็หลบหน้านิวแลนด์เพราะกลัวว่าเธอจะรักเขา เมย์เองก็อาจระแคะระคายว่านิวแลนด์ปันใจให้หญิงอื่น จึงให้เขาทบทวนให้ดีก่อนแต่งงานกับเธอ ให้เขามีโอกาสทิ้งเธอเพื่อไปหาคนที่เขารักจริงๆ

เมื่อนิวแลนด์ได้พบมาดามโอเลนสก้าอีกครั้ง ทั้งคู่ได้มีโอกาสเปิดใจพูดกันหมดเปลือกถึงความรักที่มีต่อกัน แต่มาดามโอเลนสก้าขอร้องให้เห็นแก่เมย์ เธอเองไม่สามารถจะมีความสุขได้หากความรักของเธอสร้างทุกข์ให้ผู้อื่น เช่นเดียวกับไม่อยากเห็นนิวแลนด์กลายเป็นคนใจดำที่ทำร้ายผู้อื่น ในที่สุดทั้งคู่ก็จากกันไป นิวแลนด์แต่งงานกับเมย์ และเคาน์เตสเดินทางไปยุโรป และหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของนิวแลนด์ประหนึ่งการทดลองที่ถูกทอดทิ้ง

แต่เมื่อเคาน์เตสโอเลนสก้ากลับมายังนิวยอร์กอีกครั้ง ถ่านไฟเก่าก็คุขึ้นอีก และนิวแลนด์ก็พยายามจะสานการทดลองของเขาให้เสร็จ แม้เคาน์เตสจะพยายามหนีหน้าเขาเพียงใด แต่โดยหารู้ไม่ว่าสายตาทุกคู่ในนิวยอร์กจับตาดูพวกเขาอยู่เงียบๆ และเมย์เองก็ดูจะเชื่อในข่าวลือนั้น

The Age of Innocence ดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกันของอีดิธ วอร์ตัน ซึ่งนิยายของเธออีกเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังอยู่บ่อยๆ ก็คือ The House of Mirth ที่ในฉบับล่าสุดได้กิลเลียน แอนเดอร์สัน สาวเอกซ์-ไฟล์ มารับบทนำ

วอร์ตันเป็นคนในแวดวงสังคมชั้นสูงของนิวยอร์กในยุคนั้นและดูจะเข้าใจแวดวงสังคมของเธอเป็นอย่างดี พร้อมทั้งความเป็นเลิศในการเขียนวรรณกรรม ทำให้เธอถ่ายทอดภาพของผู้คนผ่านตัวหนังสือได้อย่างชัดเจน เจ็บแสบ และสวยงาม

บทซึ่งดัดแปลงโดยมาร์ติน สกอร์เซซี และ เจย์ ค็อกส์ ก็ทำได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน จนถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ เพียงแต่พ่ายให้กับ Schindler’s List (1993) ของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ไป โดยเขาให้เรื่องราวเล่าผ่านสายตาของนิวแลนด์ อาร์เชอร์ โดยมีเสียงเล่าเรื่องของโจแอน วู้ดเวิร์ด นักแสดงหญิงที่เคยคว้าออสการ์จาก The Three Faces of Eve และรับบทเป็นแม่ของทอม แฮงก์ ใน Philadelphia เป็นผู้ถ่ายทอดความในใจของเขา ซึ่งเป็นกลอุบายที่ใช้ในการเล่าเรื่องที่เหมาะสมกับหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง ด้วยเพราะหนังต้องการให้เห็นถึงสังคมที่ตกเป็นทาสของการนินทาว่าร้ายและการซุบซิบ เหมือนที่ในหนังเปรียบว่าเป็นเหมือนองค์กรลับที่ตัดสินผู้คน โดยไม่เคยสอบสวนความเป็นจริงก่อน หรือไต่ถามสิทธิในการกระทำของผู้ที่ตกเป็นจำเลย

น้ำเสียงของวู้ดเวิร์ดที่ถ่ายทอดเรื่องราวให้เราฟัง ซึ่งบางครั้งเหน็บแนม บางครั้งขบขัน และโดยส่วนใหญ่ที่เหมือนแอบเล่าเรื่องนินทาชาวบ้านให้เราฟัง เหมือนเราได้นั่งฟังเรื่องซุบซิบไปด้วย ก็ดูช่างเหมาะเจาะกับการเล่าเรื่อง

นอกจากนี้ การเล่าเรื่องด้วยภาพของมาร์ติน สกอร์เซซี ก็ยังทำออกมาได้แปลกกว่าธรรมเนียมที่หนังแนวนี้มักนิยม เช่นการให้ตัวละครพูดข้อความในจดหมาย หรือการใช้แสงและสีแสดงความรู้สึกของตัวละคร

การแสดงของแดเนียล เดย์-ลูอิส และ มิเชล ไฟเฟอร์ นั้นไม่ต้องพูดถึง สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกที่ซ่อนลึกอยู่ในใจได้ดีมาก แต่ที่สะดุดตาที่สดคงเป็นวิโนนา ไรเดอร์ ในบทที่ดูต่างไปจากที่เคยเห็นเธอแสดง ด้วยใบหน้าที่อ่อนหวานดูเดียงสา และบริสุทธิ์ แต่เก็บซ่อนความรู้สึกแท้จริงเอาไว้ตลอด เหมือนที่อาร์เชอร์คิดว่า

“But what if all her calm, her niceness were just a negation, a curtain dropped in front of any emptiness? Archer felt he had never lifted that curtain.”

และเราเห็นได้ชัดในภายหลังถึงความแยบยลของเธอที่ใช้ความใสซื่อบริสุทธิ์และเปราะบางเป็นปราการกีดขวางความรักของคนทั้งสองที่ไม่อยากทำร้ายจิตใจเธอเพียงใด เหมาะสมกับการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ และอาจจะเป็นครั้งเดียวของเธอที่มีโอกาสได้บทบาทเช่นนี้

งานกำกับศิลป์ออกแบบฉาก และเครื่องแต่งกายก็ทำได้ปราณีต ตั้งแต่การจำลองฉากไทม์สแควร์ในอดีต จนถึงปลายของชายกระโปรงและลายสลักบนไฟแช็ค รวมถึงมีดนตรีประกอบที่ไพเราะเข้ากับเรื่อง เป็นงานที่สมบูรณ์ในทุกด้านภายใต้การกำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี