ค้นหาหนัง

The Cable Guy | เป๋อ จิตไม่ว่าง

The Cable Guy | เป๋อ จิตไม่ว่าง
เรื่องย่อ : The Cable Guy | เป๋อ จิตไม่ว่าง

สตีเว่น (แมทธิว บรอเดอริค) สถาปนิกหนุ่มวางแผนตีสนิทกับ ชิป (จิม แคร์รี่) ช่างเคเบิ้ลทีวีเพื่อหวังจะประหยัดค่าติดตั้งและชิปก็พาตัวเองเข้าไปเกาะติดอยู่กับชีวิตของ สตีเว่น จนยากที่จะสลัดออกไปได้ง่าย ๆ เฮีย Jim รับบทช่างเคเบิ้ลจอมป่วนที่ สตีเว่น โคแว็กซ์ (Matthew Broderick) หนุ่มจอมซื่อเรียกมาตามคำแนะนำของเพื่อนที่บอกว่ายัดใต้โต๊ะให้ช่างเคเบิ้ล 50 เหรียญ แล้วเดี๋ยวช่างก็จะทำการติดเคเบิ้ลเถื่อนที่ดูได้ครบทุกช่องให้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารายเดือนแต่อย่างใด

IMDB : tt0115798

คะแนน : 7



นี่คือหนังตลกที่ดังตั้งแต่ยังไม่สร้างเพราะเฮีย Jim Carrey ได้ทุบสถิติใหม่รับค่าตัวไป 20 ล้านจากหนังเรื่องนี้ แต่ตัวหนังกลับไม่ถูกใจผู้ชมเท่าที่ควรครับ ทำเงินได้คืนมาจากทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าพอเท่าทุน (ลงไป 47 ล้านน่ะครับ ถ้าตัดค่าตัวเฮียแกออก หนังก็จะลงทุนไม่เกิน 30 ล้านเท่านั้น)

เหตุผลประการสำคัญก็เพราะหนังมันออกมาในแนวตลกร้าย จิกกัดเสียดสี โทนดาร์คๆ มากกว่าจะเป็นตลกเอาฮาแบบเบาๆ ไม่เหมือนอย่างผลงานเรื่องก่อนๆ ของเฮีย Jim ไม่ว่าจะ The Mask, Ace Ventura หรือ Dumb and Dumber

จริงๆ ถ้าเป็นช่างคนอื่นก็คงขอแค่ 50 แล้วจบครับ แต่นายช่างคนนี้ไม่รับเงิน ทว่าขอให้สตีเว่นมาเป็นเพื่อนเขาแทน และนั่นล่ะครับจุดเริ่มชีวิตป่วนสุดหายนะ เพราะนายช่างคนนี้ก็แสนจะแสบ กวนชีวิตสตีเว่นตลอด ครั้นสตีเว่นจะปฏิเสธก็ไม่ได้ เพราะนายช่างคนนี้ก็จะตามรังควานซะจนอยู่ไม่สุข…

ว่าตามจริงการให้ เฮีย Jim มาเล่นบทนี้มันก็เหมาะนะครับ เฮียแกก็เล่นได้เพี้ยนบ้าถึงขีดดี ส่วน Broderick ก็ดูหงอไม่ เป็นหนุ่มหน้าอ่อนไม่สู้คนได้กำลังดีเหมือนกัน

จริงๆ นักแสดงไร้กังวลครับ แต่จุดที่ทำให้ความสนุกของหนังมันไม่กลมกล่อมส่วนหนึ่งก็ด้วยความเพี้ยนล้นๆ ของตัวละครนายเคเบิ้ลกายที่ดูป่วนมาก บ้ามากจนออกแนวน่าหงุดหงิดมากกว่าจะขำขัน ชวนให้นึกถึงบทของ Bill Pullman ใน Mr. Wrong (1996) น่ะครับ อันนั้นมันก็เพี้ยนมาก บ้ามาก ไร้เหตุผลมากจนชวนให้หงุดหงิดเหมือนกัน แล้วที่นี่มันก็ส่งผลต่อความสนุกของหนังครับ เมื่ออะไรต่อมิอะไรมันชวนให้รู้สึกลบมากกว่าจะเป็นบวก

อันนี้คือที่ผมรู้สึกนะครับ มันเพี้ยนล้นน่ารำคาญมากกว่าจะสนุก ไม่เหมือนบทเอซ เวนทูร่าหรือเดอะ แมสค์ที่แม้จะเพี้ยนมาก การ์ตูนมาก แต่ก็ยังมีจุดน่ารัก หรืออย่างน้อยก็จะมีจุดเด่นด้านบวกผสมอยู่ในตัวละครนั้นๆ อย่างนายเอซที่เพี้ยนจนเหมือนต๊องและบ้า แต่แกก็เป็นนักสืบที่เก่งจริง มีความสามารถในการสังเกตรายละเอียดเล็กๆ เพื่อนำหลักฐานทั้งหลายมาไขคดี หรือเดอะแมสค์ก็ยังมีอิทธิ์ฤทธิ์น่ารักๆ หลายประการ ดูแล้วมันเลยพอดี

ส่วนกับนายเคเบิ้ลกายคนนี้มีแต่ป่วนป่วนป่วน รวนชีวิตชาวบ้าน เลยออกจะเป็นอะไรที่ผิดจากที่คาด เพราะอย่าว่าแต่สตีเว่นอยากให้นายคนนี้ออกไปจากชีวิตเลยครับ คนดูก็อดคิดแบบนั้นไม่ได้เหมือนกัน!

แต่กระนั้นถ้ามองไปที่ประเด็นที่หนังพยายามสื่อมันก็ยังพอไหวครับ เพราะทีมเขียนบทและผู้กำกับนั้นแทรกการจิกกัดไว้ให้คนดูลองเก็บไปคิด โดยเฉพาะเรื่องการเสพติดทีวีครับ

หนังได้เฉลยในตอนท้าย ว่านายเคเบิ้ลกายคนนี้ถูกเลี้ยงด้วยทีวีมาตั้งแต่เด็กครับ พ่อแม่ทิ้งไว้หน้าจอ เปิดทีวีทั้งวัน แกเลยเข้ากับใครแบบธรรมดาไม่เป็น ความสามารถในการเข้าสังคมก็ไม่มีครับ จะทำความรู้จักใครก็โผงผางเหมือนตัวการ์ตูน ไม่สนไม่แคร์คนอื่น มุ่งสนใจแต่ตนเอง ไม่ยอมรับคำปฏิเสธ เป็นคนประเภทอยากได้อะไรก็ต้องได้ และถ้าไม่ได้ล่ะก็ คนที่ไม่ตามใจเตรียมโดนเอาคืนได้เลย

นั่นล่ะครับ ปมที่มาของการเป็นตัวป่วนของเขา ซึ่งอันที่จริงก็น่าเห็นใจครับเพราะเมื่อเขาไม่ได้เติบโตอย่างเหมาะควร ไม่มีคนสอนสั่ง ไม่มีต้นแบบชีวิตให้เขาเรียนรู้และเดินตาม ได้แต่เสพและเรียนจากสารพัดสิ่งปรุงแต่งในทีวี ไม่ว่าจะตัวการ์ตูนที่เน้นความตลกแต่แฝงความรุนแรงบางอย่าง (สังเกตครับว่าการ์ตูนฝรั่งอย่างบั๊กส์ บันนี่หรือมิคกี้ เมาส์ก็มักจะกวนกัน ตีกันมากกว่า จะมาน่ารักแบบแคสเปอร์น่ะน้อยครับ ไหนจะสารพัดซูเปอร์ฮีโร่อีก)

ยังไม่รวมละครน้ำเน่า รายการขายของสารพัดชนิด หรือการเสนอข่าวที่เน้นหวือหวา รุนแรง และมักเป็นข่าวร้าย (เพราะข่าวร้ายขายดีเสมอ) ที่ไม่ประเทืองปัญญาคนดู ซึ่งทั้งหมดนั่นก็หล่อหลอมออกมาเป็นเขาที่เราเห็นครับ… เดอะ เคเบิ้ล กาย

ยอมรับว่าผมรำคาญพี่แกนะ แต่พอถึงฉากเล่าเฉลยในตอนไคลแม็กซ์ที่จานดาวเทียมนั่น สิ่งที่เขาพูดและเปิดเผยออกมาทำให้ผมเห็นใจเขาในบัดดล

เขาก็แค่เด็กที่ขาดความอบอุ่น แต่คนที่โตมาโดยไร้ตัวแบบที่ดี ไร้คนคอยแนะนำชี้ทางอย่างเหมาะสม… เขาก็แค่เหยื่ออีกคน เหมือนผู้ใหญ่อีกมากหลาย เหมือนเด็กอีกมากมายที่ทำตัวไม่ดีหรือเป็นตัวป่วนในสายตาใคร ก็เพราะสิ่งแวดล้อมสอนมาแบบนั้น…

ผมชอบสิ่งที่เขาสื่อในตอนท้ายนะครับ ว่าเขาก็ไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ เขาอยากดีกว่านี้ แต่จะทำไงได้ล่ะในเมื่อชีวิตเขาเป็นสิบปีถูกหลอมด้วยทีวีอย่งเดียวแบบนี้

แน่นอนครับว่านี่คือตัวละครที่ไม่ได้มีจริง มีแค่ในแผ่นฟิล์ม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าคนที่มีพฤติกรรมทำนองนี้ก็มีอยู่ และจะว่าไปแล้ว นี่คือตัวละครที่ทีมผู้สร้างนำเสนอขึ้นมาเพื่อชวนให้คนดูได้คิด ได้ใคร่ครวญถึงบางสิ่ง ถ้าคุณเป็นพ่อแม่นี่ก็คือบทเรียนที่ควรจำไว้ เพื่อไม่ให้เกิดกับลูก

ครับ และการจิกกัดเสียดสีในหนังนั้นมันชวนคิด มันสะท้อนความจริงที่ชวนตระหนักหลายอย่าง… ว่าแต่ทราบไหมครับว่าใครทำหนังเรื่องนี้

ผู้กำกับคือ Ben Stiller ครับ เป็นงานกำกับหนังโรงเรื่องที่ 2 ต่อจาก Reality Bites เรื่องนั้นพี่แกนำเสนอเรื่องของคนเจนเนอเรชั่น X ครับ ก็มีประเด็นไม่เลว ส่วนในเรื่องนี้พี่แกก็โดดลงมาเล่นด้วยครับในบทประกอบเล็กๆ เป็นผู้ต้องหาคดีความที่คนทั่วประเทศกำลังสนใจ (ทั้งที่คดีมันไม่ได้มีอะไรมาก แต่คนก็ติดตามเพราะกระแส เพราะสอดรู้ ฯลฯ นี่ก็จิกกัดอีกเหมือนกันครับ)

และหนังเขียนบทโดย Lou Holtz Jr. แต่เป็นที่รู้กันว่าคนเขียนบทอีกคนที่มีส่วนในบทหนังเกินครึ่งคือ Judd Apatow ที่ร่วมงานกับ Stiller มาตั้งแต่สมัยทำรายการทีวี The Ben Stiller Show ด้วยกัน แต่ Apatow ก็เลือกจะใส่ชื่อแค่อำนวยการสร้างก็พอ ว่ากันว่าพี่ท่านทำเพื่อท้าทายกฎของสมาคมนักเขียนบทที่มีรายละเอียดนั่นนี่จนบางทีก็น่ารำคาญ ต้องอย่้างนี้ถึงจะใส่ชื่อได้ ต้องเขียนบทเท่านี้ถึงจำใส่ได้ ครั้งนี้เขาเลยประกาศเลยครับว่าเขามีเกณฑ์ครบที่จะใส่ชื่อลงไปได้ แต่เขาเลือกที่จะไม่ใส่ มีอะไรหรือเปล่า? 5555

มีอีกหนึ่งสาระ (หรือการจิกกัด) ที่พวกเขาใส่ลงไปนะครับ นั่นคือฉากเล็กๆ หลังเหตุการณ์ไคลแม็กซ์จบลง ส่งผลให้ระบบเคเบิ้ลล่ม ทีวีไม่มีดูกันไปพักหนึ่ง แล้วหนังก็ฉายไปที่ชายคนหนึ่ง เขาเลือกที่จะหันมาหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา แล้วอ่านมันอย่างช้าๆ…

เหมือนกระซิบผ่านภาพว่า เราใช้เวลาติดตามคดีความดังๆ ที่ไม่ได้มีผลกับชีวิต ดูทีวีน้ำเน่า ดูคนขายของ ดูอะไรต่อมิอะไรมากมายที่อาจไม่ได้ประเทืองปัญญา ไม่ได้พัฒนาตัวเราไม่ว่าจะด้านสติปัญญา อารมณ์ หรือจิตวิญญาณ แต่เราเลือกเสพเพราะมันง่ายครับ มันง่ายกว่าการอ่านที่ต้องใช้เวลา ใช้สมาธิ ต้องใช้การตีความและการคิดของตน ซึ่งในบางทีสิ่งที่เราอ่านมันก็ไม่สนุกสนานด้วย ในขณะที่การดูทีวีนั้นแค่เปิดแล้วนั่ง เปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ มันง่ายกว่า มันสนุกกว่า แต่มันให้อะไรได้คุ้มกับเวลาที่เราเสียไปหรือเปล่าอันนี้คือคำถามที่หนังทิ้งไว้ให้คิด

ในฐานะหนังตลกสักเรื่องนั้น The Cable Guy อาจไม่โอและไม่สนุกอะไรเต็มที่ แต่ด้านประเด็นชวนคิดก็นับว่าไม่เลว