IMDB : tt0838221
คะแนน : 9
หากใครที่มีโอกาสได้ดู The Grand Budapest Hotel แล้วรู้สึกถูกใจกับโลกของ เวส แอนเดอร์สัน ผู้เขียนขอแนะนำให้ดูงานก่อนหน้านี้ The Darjeeling Limited เรื่องราวการเดินทางของพี่น้องสามหนุ่มสามมุมที่ไม่เคยพูดจากันหลายปี แต่ต้องมาทัวร์อินเดียร่วมกัน
ฟรานซิส ผู้ซึ่งเพิ่งผ่านความตายจากเหตุมอเตอร์ไซด์คว่ำ จนเป็นเหตุให้เขาชักชวนน้องชายปีเตอร์ และแจ็ก ออกร่วมเดินทางทัวร์อินเดียเพื่อชำระล้างจิตใจ โดยแฝงภารกิจหลักไว้คือการไปพบกับแม่ของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดต่างก็เก็บเอาความคาใจที่แม่ไม่ไปร่วมงานศพของพ่อ มาทั้งชีวิต สามพี่น้องซึ่งแทบไม่เคยพูดจากันมานานมาก ออกเดินทางและใช้ชีวิตร่วมกันบนรถไฟ เพื่อค้นหาบางสิ่งที่หล่นหายไปในกาลเวลา และเรียนรู้ชีวิต
ต้องบอกก่อนเลยว่า The Darjeeling Limited อาจจะดูยากกว่า The Grand Budapest Hotel แต่ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนได้ลึกกว่า เวส แอนเดอร์สัน ที่มักเล่นเรื่องราวความร้าวฉานในครอบครัว ก่อนจะผสานรอยร้าวกันในท้ายที่สุด ไม่ต่างจาก The Royal Tenenbaums ที่คราวนี้ใช้สามพี่น้องเป็นตัวเดินเรื่อง
โอเวน วิลสัน ซึ่งมักอยู่ในหนังตลก ชวนหัว ยกเว้นในหนังเรื่องนี้ วิลสันคือ ฟรานซิส พี่ชายคนโต ที่มักเจ้ากี้เจ้าการคิดแทน และชอบเอาเปรียบน้อง ๆ อย่างเช่น ให้ของขวัญแล้วขอคืน ถือเป็นงานฉีกแนวที่เจ้าตัวไม่ต้องแสดงท่าทางเพี้ยน ๆ หรือพยายามชวนคนดูขำ แต่น่าแปลกตรงที่แม้วิลสันจะไม่ได้ให้การแสดงแบบนั้น แต่ตัวละครที่เขาสวมบทกลับมีความเพี้ยนไม่ธรรมดาอยู่ แค่ภาพลักษณ์ภายนอกก็เพี้ยนแล้ว ซึ่งทำให้วิลสันดูเป็นธรรมชาติมากกว่าหนังตลกเรื่องอื่น ๆ ของเขา
เอเดรียน โบรดี้ ในบท ปีเตอร์ พี่คนรอง นี่ก็เป็นอีกตัวละครที่มีภาพลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ และชอบเผยความลับของพี่น้อง ทั้ง ๆ ที่อีกฝ่าย “ห้ามบอก” ก็ตาม
เจสัน ชวารท์ซแมน ในบท น้องคนสุดท้อง แจ็ก ผู้มีอารมณ์ศิลปิน พอ ๆ กับความอ่อนไหว และไม้เลื้อย กับสาวที่ตนเองต้องตา
เวส แอนเดอร์สัน หยิบเอาเรื่องราวธรรมดาบนความไม่เข้าใจกันของพี่น้อง มาเล่าในโลกของตนเอง ผ่านการปรุงแต่งที่เป็นลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ บุคลิกตัวละครที่ไม่ปกติ การแต่งกาย สีสันและมุมกล้องที่ถ่ายทอดอย่างเหนือชั้นในพื้นที่อันคับแคบอย่างเช่น รถไฟอินเดีย (เป็นที่รู้กันว่า รถไฟอินเดียยิ่งกว่ารถไฟบ้านเรา ขนาดที่ว่า คนกับแพะยังต้องโดยสารรถไฟร่วมกันเลย) พิจารณาไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในโลกภาพยนตร์ สำหรับการเล่าเรื่องราวร้าวฉานของพี่น้อง จริงไหม? แต่แอนเดอร์สันสามารถเล่าเรื่องราวธรรรมดาให้ไม่ธรรมดาได้นี่ล่ะ
การเดินทางของสามพี่น้องที่ไม่ต่างจากคนแปลกหน้า ทริปนี้เสมือนการค้นหาบางสิ่งที่หล่นหายไปในกาลเวลา นั่นคือความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง คนดูรับรู้แต่แรกทันทีว่า สามพี่น้องเหมือนคนแปลกหน้า การต้องมาอัดกันอยู่ในห้องโดยสารชั้นหนึ่งร่วมกัน สร้างความอึดอัดพอ ๆ กับห้องที่โดยสาร ฟรานซิสเป็นผู้กำหนดการเดินทาง และตั้งเงื่อนไข สะท้อนให้เห็นความเจ้ากี้เจ้าการของเขา ซึ่งมันก็สะท้อนภาพของพี่ชายส่วนใหญ่ที่ต้องคอยดูแลน้อง ๆ แต่เพราะตนเองผ่านความตายมาได้ สิ่งแรกที่ตนคิดถึงเมื่อรอดจากความตายก็คือ ครอบครัว นั่นทำให้เขาเสนอทริปประสานใจนี้แก่น้อง ๆ
ปีเตอร์ลูกคนรอง ก็สะท้อนภาพของลูกคนกลาง ชอบเก็บตัว ไม่เผยความรู้สึก และพยายามแสดงให้พี่-น้องเห็นว่าตนเองคือคนที่พ่อรักมากที่สุด
ส่วนแจ็ก ลูกคนเล็ก ก็ไม่ต่างจากลูกคนเล็กในครอบครัวปกติ เป็นตัวของตัวเอง และไม่ค่อยแคร์กับความรู้สึกของพี่น้อง แจ็กพร้อมจะตีจากทริปนี้ทุกเมื่อ ถึงขั้นแอบซื้อตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว แต่ในหนังกลับให้ความสำคัญกับแจ็กน้อยกว่าใครทั้งหมด เว้นเสียแต่ใครได้ดูในดีวีดี แจ็กมีหนังสั้นของตนเอง เรื่องราวความรัก และ ‘ซั่ม’ เพื่อน ของเจ้าตัว (โดยมี นาตาลี พอร์ตแมน รับเชิญในบทนี้ ในแบบที่คนดูต้องอึ้ง) ซึ่งมันเป็นหนังสั้นที่มาก่อนตัวหนัง ทำให้เราพบว่า แจ็กเป็นผู้ชายประเภทไม้เลื้อยดี ๆ นี่เอง
ขาประจำหนังเวส แอนเดอร์สัน อย่าง บิล เมอร์เรย์ มารับเชิญในช่วงต้นเรื่อง, โลโก้หนังของแอนเดอร์สัน ต้องมีนักแสดงอินเดีย คูมาร์ พาลลานา ที่ไม่มีบทพูดเลย มาในฐานะชายชราผู้ร่วมโดยสารรถไฟขบวนนี้ เจ้าป้า แองเจลิกา ฮุสตัน ในบทแม่ผู้เป็นแม่ และแม่ชี! ใครที่เคยชอบ ไอร์ฟาน ข่าน จาก The Lunch Box มีบทในช่วงกลางเรื่อง หนุ่มใหญ่ในหมู่บ้านที่ต้องเผชิญชะตากรรมครั้งสำคัญ
ผู้เขียนชอบฉากสามพี่น้องในหมู่บ้านชนบทอินเดีย ที่มันเสมือนการตอบโจทย์ทั้งหมดที่คาใจของสามพี่น้อง มันเป็นการชดเชยในแง่ของความรู้สึกที่พลาดหวังจากเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม และมันช่วยทำให้สามพี่น้องได้เรียนรู้ เปิดใจ ยอมรับในความต่างของแต่ละคน และประสานใจกันได้อีกครั้ง
ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะเขียนถึงโดยต้องพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นสำคัญของหนัง
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นในหนังคือ ไม่มีตัวละครใดที่ใช้โทรศัพท์มือถือ ผู้เขียนว่ามันเป็นความจงใจของแอนเดอร์สัน เลยต่อยอดความคิดออกไป
ทุกวันนี้เราใช้โซเชียลมิเดีย เพื่อติดตามใครบางคนที่เราไม่รู้จัก ได้รับรู้ว่าคนนั้นรู้สึกอย่างไร และบางทีเราก็ทั้ง ‘ชื่นชม (Like)’ หรือ ‘ไม่ชอบ (Unlike)’ ไปกับพวกเขา ทั้ง ๆ ที่บางทีเราไม่ได้อ่านด้วยซ้ำไป แต่เราเคยใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อย่นระยะความห่างของคนในครอบครัวเราหรือไม่? เราเคยโทรศัพท์ หรือ โพสต์ไปถามเขาไหม ?
หลาย ๆ ครอบครัว สายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องก็แน่นแฟ้น แต่ก็มีไม่น้อยที่ห่างเหินจนเหมือนคนแปลกหน้ากัน อาจเพราะงานการที่ต้องทำ ชีวิตครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ถ่างสายพันธ์ให้ห่างออกจากกันมากขึ้น ความจริงของชีวิตก็คือ ครอบครัวพี่น้องพร้อมหน้ากันก็ต่อเมื่อ งานปีใหม่ หรือใครสักคนในครอบครัวมีงานมงคล หรือ งานศพ จริงไหม?
วันนี้คุณโทรไปหาคนในครอบครัวของคุณที่ไม่เจอกันนานแล้วรึยัง? บางทีเขาอาจรอคุณโทรไป เหมือนที่คุณก็รอเขาโทรมา ประสานใจกันเถอะครับ