IMDB : tt0460791
คะแนน : 9
เรากำลังอยู่ในยุคที่ CG หรือ Computer Graphic เข้ามีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์เป็นอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะมีโอกาสได้เห็นภาพยนตร์ที่มีงานภาพสวยงามตระการตาแบบ Avatar หรือการเนรมิตไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ อย่าง Jurassic Park แต่กระนั้น เมื่อปี 2006 (ประมาณ 14 ปีที่แล้ว) ได้มีหนังเรื่องหนึ่งที่แอบเข้าฉายในโรงอย่างเงียบ ๆ ไม่ได้เป็นกระแสฮือฮาแบบหนัง Block Buster ทุนสร้างพันล้าน แต่หนังเรื่องนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมลูกมโหฬารต่อวงการ Cinematography ทั่วโลก เนื่องจากงานภาพที่โดดเด่นจนขึ้นทำเนียบ 1 ในภาพยนตร์ที่ภาพสวยที่สุดในโลก ทั้งที่ไม่ใช้ Computer Graphic แม้แต่ฉากเดียว .. เอาล่ะครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ ‘The Fall’ หนังที่มีชื่อไทยสุดไพเราะว่า ‘พลังฝัน ภวังค์รัก’
The Fall เป็นผลงานการกำกับเรื่องที่สองของผู้กำกับเชื้อสายอินเดียอย่าง ‘Tarsem Singh’ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานการกำกับภาพยนตร์มาแล้ว 1 เรื่องถ้วน ชื่อว่า ‘The Cell’ ที่มีจุดเด่นคืองานอาร์ทในเรื่องเช่นกัน
เรื่องราวของ The Fall เริ่มต้นขึ้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอสแองเจลิส ฉาบหน้าเอาไว้ด้วยกลิ่นอายแห่งยุค 90 .. เป็นเรื่องราวของ ‘รอย วอล์คเกอร์’ สตั๊นท์แมนหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุจนร่างกายท่อนล่างกลายเป็นอัมพาต แน่นอนว่านี่คงเป็นจุดจบในเรื่องหน้าที่การงานของเขาเเล้ว .. รอย ผู้ที่กำลังสิ้นหวังเเละหดหู่ได้พบกับหนูน้อย ‘อเล็กซานเดรีย’ ที่ซุกซนจนตกจากต้นไม้ ทำให้ถูกส่งเข้ามารักษาอาการที่โรงพยาบาลแห่งนี้เหมือนกัน
มิตรภาพของทั้งสองคนค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นบนเตียงคนไข้ของโรงพยาบาล จนกระทั่ง รอย ได้เริ่มเล่านิทานมหากาพย์ที่ว่าด้วยการผจญภัยของจอมโจรสวมหน้ากากและสหายทั้ง 4 ซึ่งประกอบไปด้วย ‘The Indian’ ชายชาวอินเดียในชุดเขียว ผู้ที่สูญเสียหญิงสาวผู้เป็นที่รัก ‘Luigi’ ผู้เชี่ยวชาญการด้านการทำระเบิด ‘Otta Benga’ อดีตทาสผู้หลบหนีจากการจองจำ และ ‘Darvin’ นักชีววิทยาที่รักทุกสิ่งทุกอย่างที่มีชีวิต
ดูจากตัวละครแต่ละตัวที่ไม่น่าจะมาอยู่ร่วมเฟรมกันได้ก็สัมผัสได้ถึงความแฟนตาซีมากเลยใช่ไหมครับ แถมการดีไซน์เครื่องแต่งกายก็ยังโดดเด่นชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว ความขัดแย้งในการมีอยู่ของตัวละครเหล่านี้คือการสมมติตัวตนในแต่ละบุคลิกของรอย ที่ถูกสร้างขึ้นในจินตนาการของอเล็กซานเดรีย โดยรอยนั้นอยากใช้เรื่องเล่าสุดอลังการเรื่องนี้ปูทางไปสู่ความตายของเขาเอง (รอยพยายามหลอกล่ออเล็กซานเดรียให้นำยามาให้เขาเพื่อฆ่าตัวตาย)
ในที่สุด รอยก็ได้เปิดใจรับตัวละครของอเล็กซานเดรียให้มามีอิทธิพลต่อนิทานของเขา จนทำให้ทั้งสองคนได้รู้ซึ้งถึงความจริงที่ว่า ‘ไม่ว่าเราจะคิดว่าตัวเองด้อยค่าหรือตกต่ำเพียงใด เราก็จะยังคงเป็นคนสำคัญสำหรับใครบางคนอยู่ดี’ นำไปสู่บทสรุปที่ขยี้หัวใจของผู้ชม จนอาจทำให้บางคนเสียน้ำตาได้เลยทีเดียว
แต่ทีเด็ดของเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่เนื้อเรื่องสุดยิ่งใหญ่ชวนฝัน แต่ยังรวมไปถึง ‘ความสวยงามของงานภาพ’ ซึ่งทุก ๆ ฉากถ่ายทำมาจากสถานที่ที่มีอยู่จริงจากทั้งหมด 20 ประเทศ โดยผู้กำกับ Tarsem Singh ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับเทคนิค 'On-location Filming' หรือเทคนิคการถ่ายทำในสถานที่จริง ความยากของการถ่ายทำประเภทนี้ คือ สภาพเเวดล้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น หากก้อนเมฆลอยมาบังเเสงอาทิตย์ในขณะที่ถ่ายฉากกลางเเจ้งอยู่ ผู้กำกับก็จะต้องสั่งคัทเเละรอจนกว่าก้อนเมฆจะลอยหายไปเเละเริ่มถ่ายทำกันใหม่อีกครั้ง
ด้วยความปราณีตระดับนี้ ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่า 4 ปีในการถ่ายทำจนเสร็จสมบูรณ์
ก่อนที่จะได้ภาพวิวสวย ๆ เหนือจินตนาการเเบบนี้ ผู้กำกับ Tarsem Singh ได้ประกาศความตั้งใจชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำทุกบาท ทุกสตางค์ เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด และทีมงานทุกฝ่ายรวมไปถึงเหล่านักเเสดงจะได้รับเงินค่าจ้างเท่ากันอีกด้วย ที่ทำเเบบนี้เพราะ Singh ตั้งใจให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาในเเนวทางของเขา (หากได้รับงบประมาณจายสตูดิโออาจต้องดัดเเปลงเนื้อเรื่องให้ตรงตามความต้องการของเจ้าของเงิน)
แต่การทำเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เมื่อในช่วงเเรก The Fall ไม่สามารถนำเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ได้ เพราะการที่ผู้กำกับหนังเลือกที่จะทำหนังทั้งหมดในเเนวทางของตัวเองโดยไม่รับคำเเนะนำจากสตูดิโอ นั่นเเปลว่า ไม่มีการการันตีว่าหนังเรื่องนี้จะทำเงิน
ตัวอย่างของสถานที่และประเทศที่ถ่ายทำ เช่น
- Le Ladakh ประเทศอินเดีย ในฉากทะเลสาบสีฟ้าตัดกับภูเขาสีขาวและเงาสะท้อนของก้อนเมฆบนพื้นน้ำอันโดดเด่น
- ฉากเกาะผีเสื้อในฉากเปิด ถ่ายทำที่ประเทศฟิจิ
- ฉากของพระราชวังของเมือง Agra ประเทศอินเดีย
- วิหาร Hagia Sophia ประเทศตุรกี
- Capitoline Hill, Colosseum ประเทศอิตาลี
- บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
- Charles Bridge ประเทศสาธารณะรัฐเช็ค
ความโดดเด่นด้านงานภาพ การเล่นสีอันฉูดฉาด รวมไปถึงองค์ประกอบงานศิลป์ของ The Fall ทำให้ Colin Watkinson ผู้กำกับงานศิลป์ของเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในเทศกาลหนังของ Austin Film Critics Association ในปี 2008 แถมยังมีชื่อเข้าชิงในการประกาศรางวัลอีกหลายเวทีอีกด้วยครับ
สรุป ในช่วงของการกักตัวแบบนี้ ถ้าอยากหาภาพยนตร์สักเรื่องมาดูฆ่าเวลาหรือเสพย์งานศิลป์ขั้นสูง ผมขอแนะนำให้ลองดู The Fall แม้ตัวหนังจะมีการดำเนินเรื่องที่เนิบช้า แต่หากสังเกตดี ๆ จะพบสัญลักษณ์ที่ถูกซ่อนไว้ให้ตีความเต็มไปหมด และหากไม่ชอบการตีความ แค่งานภาพในเรื่องนี้ก็ถือเป็น Masterpiece อีกชิ้นหนึ่งของวงการภาพยนตร์ที่คู่ควรกับการหามาดูสักครั้งหนึ่งก่อนตายครับ!