IMDB : tt0097647
คะแนน : 6
ตอนผมดูหนังชุดนี้ ผมเอามาดูเรียงต่อกัน 3 ตอนรวดเลยนะครับ จำได้ว่าดูตั้งแต่เช้าแล้วมาจบเอาตอนเย็นๆ มันเลยเกิดอารมณ์บางอย่างขึ้นมาระหว่างที่ผมดูภาค 3 นี้ครับ แต่เป็นอารมณ์ไหน เดี๋ยวผมเล่าให้ฟังครับ
หลังจากที่แดเนี่ยล (Ralph Macchio) กับมิยากิ (Pat Morita) กลับจากศึกโอกินาวาในตอนก่อนมาสู่ แอล.เอ เขาก็ต้องพบกับศึกใหม่ เมื่อจอห์น ครีส (Martin Kove) อาจารย์สอนคาราเต้ที่โดนศิษย์อาจารย์คู่นี้หยามหน้าจะจนสิ้นเนื้อประดาตัวในภาคแรก เกิดความแค้นอย่างมหาศาล จึงเดินทางไปหา เทอร์รี่ (Thomas Ian Griffith) นักคาราเต้จอมโหดเพื่อเก่าของตน เพื่อขอให้ช่วยล้างแค้นและกู้ศักดิ์ศรีคืนมา
เทอร์รี่ก็ยินดีเลยครับ จัดการวางแผนโดยใช้ ไมค์ บาร์นส (Sean Kanan) เจ้าของฉายา ไอ้หนุ่ม Badboy แห่งวงการคาราเต้ ไปจัดการประลองกับแดเนี่ยล แต่นั่นยังไม่สะใจเทอร์รี่ เพราะเขายังมีแผนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างแดเนี่ยลกับมิยากิอีกด้วย
….เอ่อ.. จะว่าไงดีล่ะ… คือในนาทีที่ผมดูหนังชุด KK ทั้ง 3 ภาคจบแล้ว มันรู้สึกแปลกๆ พิกล โอเค ว่ากันถึงหนังภาคนี้ก่อน ผมว่าหนังภาคนี้ก็โอเคครับ แม้ความสนุกจะจัดว่าน้อยลงไปพอสมควรก็เถอะ จนถ้าว่ากันที่ตัวหนังล้วนๆ แล้วผมควรจะผิดหวัง แต่ท่ามกลางความรู้สึกผิดหวังนั้นมันก็บังเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา ซึ่งสำหรับผมในตอนนั้น (ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรกแบบดูต่อกัน 3 ภาค) มันทำให้ผมได้ค้นพบประสบการณ์ที่น่าจดจำอย่างยิ่งสำหรับคนที่ชอบดูหนังอย่างผม
ประสบการณ์นั้นก็คือความรู้สึกแปลกๆ นั่นแหละครับ คือผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมได้ดูชีวิตใครสักคนหนึ่งเป็นเวลานานๆ น่ะครับ ถ้าให้เทียบก็เหมือนกับการที่คุณลองติดตามชีวิตใครสักคนดู พอถึงจุดหนึ่งคุณจะต้องผูกพันไม่มากก็น้อย ผมรู้สึกว่า KK ทั้ง 3 ภาคมีความต่อเนื่องกันอย่างมาก และอย่างที่ผมบอกว่าตัวละครดูมีเลือดเนื้อเหมือนคนจริงๆ จนสัมผัสได้
ส่วนหนึ่งคงเพราะทีมงานซึ่งส่วนใหญ่ก็ชุดเดิมมาทั้ง 3 ตอน ทั้งผู้เขียนบท Robert Mark Kamen, ผู้กำกับ John G. Avildsen, คนทำดนตรีอย่าง Bill Conti, ผู้ควบคุมเพลงประกอบอย่าง Brooks Arthur และผู้อำนวยการสร้าง Jerry Weintraub เรียกว่ายกชุดกันมายังกับหนังชุด The Lord of The Rings แน่ะ จึงทำให้กลิ่นอายต่างๆ ของหนังมันเป็นสไตล์เดียวกัน ต่อเนื่องกันได้ขนาดนี้ และการที่ผมได้ดู KK ต่อกัน 3 ตอนรวด ก็เหมือนกับเราได้ชมช่วงชีวิตหนึ่งของแดเนี่ยลกับมิยากิ รู้สึกเหมือนตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาไปด้วยน่ะครับ เป็นความผูกพันไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ที่สำคัญ คือ ชีวิตของพวกเขาเหมือนจริง สมเหตุผล ไม่ได้มีความเว่อร์อะไรมากมาย อย่างเรื่องแฟนของแดเนี่ยลที่แม้จะเปลี่ยนทุกภาค แต่มันก็เปลี่ยนอย่างมีเหตุผล ภาคแรกอาลี่เลิกกับเขาเพราะไปเจอหนุ่มคนใหม่ ภาค 2 แดเนี่ยลได้เจอคูมิโกะ แต่พอมาตอน 3 เธอก็เลิกกับเขาอีก เพราะเธอได้งานที่ญี่ปุ่นแล้ว แดเนี่ยลเลยโสดอีกหน แล้วภาคนี้เขาก็ได้เจอสาวคนใหม่ที่ชื่อว่า เจสสิก้า แอนดรูว์ (Robyn Lively) สาวนักปั้นกระถางแถวบ้านของเขา และตัวเจสสิก้านี่แหละที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ชีวิตของแดเนี่ยลช่างเหมือนโลกแห่งความจริงอย่างมากเลย
เพราะอะไรน่ะเหรอครับ… เอ่อ บอกไว้ก่อนนะครับ เหตุผลที่ผมจะชี้แจงในย่อหน้าต่อไป มันอาจจะเผยปมบางอย่าง เล่าเรื่องภายใน เป็นการสปอยล์ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบางคนนะครับ ดังนั้นใครไม่อยากรู้ ก็ข้ามไป อ่านตรงสรุปเลย แต่ยังไงๆ ผมก็ต้องขอเขียนครับ เพราะมันโดนจริงๆ
ในหนังนั้นตัวเจสสิก้าเองบอกกับแดเนี่ยลตั้งแต่ต้นแล้วว่า เธอมีแฟนแล้วนะ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเธอยังไงๆ ก็ได้แค่เพื่อน และพอถึงเวลาที่เธอจะต้องย้ายกลับบ้านไป เธอก็ไปจริงๆ ไม่มีการย้อนกลับมาหาแดเนี่ยลอีก ไม่มีการโผล่มาเซอร์ไพรส์ในตอนท้าย
นี่แหละครับที่ผมว่ามันโคตรจะเหมือนชีวิตจริง เพราะถ้าเป็นตามสูตรหนังล่ะก็ เจสสิก้าต้องโผล่มาตอนท้ายจริงมั้ยครับ เพื่อจะได้ Happy Ending ประเภทว่ามาเชียร์พระเอกแล้วบอกว่าเธอรักเขาอะไรแบบเนี้ย ตอนจบก็จะลงสูตร Happy ไปเลย พระเอกนางเอกได้อยู่คู่กันตลอดไป อะไรทำนองเนี้ย
แต่ที่หนังเป็นมันไม่ใช่เลยครับ จากกันคือจากจริงๆ เส้นทางชีวิตของเขาและเธอแยกกันที่ตรงนั้น แยกกันทั้งที่หนังยังไม่จบด้วยซ้ำ… จุดนี้มันทำให้ผมรู้สึกอย่างที่บอกน่ะครับ ส่วนหนึ่งอาจเพราะนี่เป็นอะไรที่ผมไม่ค่อยได้เจอเท่าไรในการดูหนัง ปกติตัวละครหลักๆ จะอยู่หรือจะไป มันก็ต้องจบเรื่องจบภาคก่อน แต่นี่คือตัวละครที่ถือได้ว่าเป็นนางเอกของภาคได้เดินออกจากเรื่องไปเลยทั้งที่แดเนี่ยลยังไม่ได้แข่งตอนไคลแม็กซ์เลยด้วยซ้ำ
มันทำให้ผมคิดถึงชีวิตจริงของคนน่ะครับ ผู้คนมากมายในชีวิตของเรา บ้างก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว หรือบางทีบทจะจากไปก็จากแบบทันทีทันใด ประเภทว่าวันนี้ยังเจอ แต่วันต่อมาเขาย้ายไปแล้วและเรากับเขาก็ไม่ได้เจอกันอีกแล้ว อะไรแบบนี้น่ะครับ ซึ่งผมรู้สึก Touch กับ Moment ที่เกิดขึ้นในหนังอันนี้อย่างมากเลยครับ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะการดูต่อกัน 3 ภาครวดจนเราคุ้นเคยกับแดเนี่ยลและมิยากิ (ประมาณว่าอยู่กับเขาทั้งวันน่ะครับ) ก็เลยอดไม่ได้ที่จะอินกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
และผมขอบอกตรงๆ ฟันธงเลยว่าคู่ของแดเนี่ยลกับเจสสิก้าในภาคนี้เหมาะสมกันที่สุดในบรรดา 3 ตอนของหนังชุดนี้… แต่ผลสุดท้ายกลับไม่ได้ลงเอยกัน
Moment นั้นมันทำให้ผมตระหนักน่ะนะครับว่า “ชีวิตจริง มักไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป และเส้นทางของมันก็ไม่ได้มีแต่กลีบกุหลาบกับความสมหวังเท่านั้น” มันใช่เลยหล่ะครับ ชีวิตมันออกแบบไม่ได้นี่หน่าฮะ ดังนั้นความไม่แน่นอนเกิดขึ้นตลอดเวลา ชีวิตคนเราจริงๆ ก็ไม่ได้มีใครสมหวังไปซะทุกเรื่องจริงมั้ยครับ
จุดที่ผมร่ายไปตรงดอกจันทร์ ประเด็นสำคัญคือ ชีวิตคนเราจริงๆ แล้ว มันไม่แน่นอน ไม่ได้มีแต่ความสมหวังและ Happy เพียงอย่างเดียว และการเดินเรื่องของ KK ทั้ง 3 ตอนก็เป็นไปตามหลักความจริงนี้ครับ ซึ่งมันพอจะทำให้ผมสรุปได้ว่า หนังชุดนี้ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน. ก็คือ ตามปกติหนังมันมักจะต้อง Happy และการที่คนเราดูหนังก็เพื่อที่จะได้หลบจากโลกแห่งความจริงซักพักนึง ไปพักผ่อนอะไรแบบนั้น แต่กับหนังชุด KK (โดยเฉพาะตอน 3 นี้) มันอาจจะไม่ได้ให้ความบันเทิงมากมาย แต่มันสะกิดให้เราได้กลับมาย้อนคิดถึงความเป็นจริงของโลกด้วย ว่าทุกอย่างไม่ Happy เสมอไป … ดังนั้นเราฝันได้ เราหวังได้ แต่เราก็ต้องเตรียมเผื่อใจกับความผิดหวังและความไม่แน่นอนด้วย
อีกอย่างที่โอเคคือความสัมพันธ์ระหว่างแดเนี่ยลกับมิยากิที่แน่นแฟ้นขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องยกให้ฝีมือของนักแสดงครับ เข้ากันได้อย่างสุดยอด ในภาคนี้ Macchio ต้องแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด พลุ่งพล่านแบบวัยรุ่นออกมาอย่างมาก ส่วน Morita ก็ต้องนิ่งเพื่อรับมือกับฮอร์โมนวัยหนุ่มของลูกศิษย์คนนี้ให้ได้
ถ้าดูภาคนี้โดดๆ หนังอาจจะไม่เข้าท่าครับ และถ้าเทียบดูแล้ว ภาคนี้สนุกน้อยที่สุดในบรรดา 3 ภาค แต่ถ้าคุณเอามาดูต่อกัน 3 ตอนรวด มันจะทำให้รู้สึกดีขึ้นครับ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องราวชีวิตของคนขนานแท้ ซึ่งมันก็ไม่บ่อยนักหรอกฮะที่หนังชีวิตจะทำออกมาในรูปแบบไตรภาคแบบนี้ และไม่บ่อยมีเหมือนกันที่หนังมันจะให้อารมณ์ติดดินสัมผัสได้แบบนี้ ซึ่งอีกชุดที่ผมนึกได้ก็คือ Rocky นั่นแหละ
สรุปว่าเข้าขั้นดีครับ (ถ้าดูต่อกัน 3ภาคและมีความอินเป็นทุนน่ะนะ) แต่ยังไงก็เหอะ ทำใจไว้ด้วย เพราะภาคนี้สนุกน้อยสุด ผมว่านะ