IMDB : tt0362270
คะแนน : 8
เวส แอนเดอร์สัน กับงานที่ทะเยอทะยานที่สุดของเขา The Life Aquatic with Steve Zissou ซึ่งล้มเหลวในทุกด้าน ตั้งแต่เงิน กล่อง หรือแม้แต่ผลตอบรับจากนักวิจารณ์โดยรวม
มันไม่เพียงแต่เป็นหนังที่อุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์จำนวนโหล หากยังมีงานสร้างที่ฉูดฉาดใหญ่โต จะว่าไปมันคงเป็นงานที่ “เซอร์” ที่สุดในประวัติการทำงานของแอนเดอร์สัน และจุดนี้เองที่เหมือนจะเป็นข้อผิดพลาดให้หนังสะดุดหกล้มไปเสียเอง จนกระทั่งไม่สามารถก้าวไปถึงเส้นชัยได้
ผมยอมรับว่า ไม่ได้ชื่นชอบเวส แอนเดอร์สัน มากสักเท่าไหร่ เหตุผลก็มาจากรสนิมยมส่วนตัวล้วนๆ เพราะงานของเขาออกมาในแนวตลกร้ายหน้าตาย (Rushmore, The Royal Tenenbaums) ตัวละครทุกตัวถูกออกแบบมาในลักษณะสำเร็จรูป ดูทื่อมะลื่อ ไร้ชีวิตชีวา แววตาเซื่องซึมเลื่อนลอยราวกับว่าไปขนทีมซอมบี้จากหนังจอร์จ โรเมโรมาเล่น
พอตัวละครไม่มีความเป็นมนุษย์แบบนี้ ผมก็มักจะหมดความสนใจที่จะติดตาม ทั้งที่จริงๆ แล้วประเด็นในเนื้องานของแอนเดอร์สันก็มีอะไรน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย ท่ามกลางการแสดงออกที่เย็นชาระหว่างตัวละครนั้น แอนเดอร์สันพยายามจะตั้งคำถามต่อคนดูเรื่องการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ที่ใกล้จะเหือดแห้ง เนื่องจากมีเรื่องของวัยหรืออะไรต่างๆ เข้ามาเป็นเงื่อนไข
นอกเหนือจากนั้น ตัวละครในหนังของเขามักจะมีข้อผิดพลาดบางอย่างที่อยากจะไถ่ถอนหรือสะสาง หนังทั่วไปคงนำจุดที่ว่านี้ไปขยายใหญ่ให้เป็นงานดราม่าชั้นดีได้ แต่แอนเดอร์สันเลือกที่จะหลีกเลี่ยง กลับหันเหไปในแนวทางของการประชดประชันเสียดสีแทน
แน่นอนว่า เมื่อเลือกที่จะใช้กลวิธีเสียดสีตลอดเวลา ก็ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะดึงให้คนดูมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังด้วย ตรงข้าม คนดูมักจะตีตัวออกห่าง บางครั้งก็เริ่ม (ถูกบังคับให้) ใช้ความคิด จึงเป็นเหตุให้หลายคน (รวมถึงตัวผม) ดูงานของเขาแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่สนุก
ฉะนั้นการทำตัวให้เข้ากับงานของเขา (นอกเหนือจากว่าบังเอิญรสนิยมเดียวกับเขาพอดี) คือการคาดหวังให้น้อยลง สังเกตสังการายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ทั้งจากการแสดง (ที่คล้ายจะเรียบเฉย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่) จากบทสนทนา ไปจนถึงข้อยิบย่อยของฉากหลัง
งัดเอาสูตรแบบนี้มาใช้แล้ว ผมก็ยอมรับว่าสนุกสนานกับการดู The Life Aquatic with Steve Zissou มากกว่าประสบการณ์กับงานชิ้นก่อนๆ ของแอนเดอร์สัน มากจนถึงขั้นเรียกว่าชอบเลยก็ว่าได้
The Life Aquatic with Steve Zissou เล่าเรื่องของนักผจญภัยใต้ทะเลชื่อ สตีฟ ซิสซู (บิล เมอร์เรย์) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เพราะทุกครั้งที่มีการออกสนาม เขาจะต้องถ่ายหนังสารคดีโลดโผนและนำออกฉายไปด้วยพร้อมๆ กัน สตีฟกลายเป็นขวัญใจมหาชน ด้วยลีลาวีรบุรุษผู้พิชิตดินแดนลี้ลับ ซึ่งไม่มีคนเคยย่างเข้าไปถึง สำหรับสตีฟแล้ว คำว่า “กลัว” ไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรมส่วนตัวของเขา
แต่แล้ววิกฤตวัยกลางคนก็เริ่มเล่นงานสตีฟอย่างเอาจริงเอาจัง หลังจากปล่อยให้เขาเริงอำนาจอยู่นาน มันเริ่มด้วยการท่องทะเลเพื่อถ่ายสารคดีเรื่องล่าสุด ฉลามจากัวร์ได้เขมือบเพื่อนรักของเขาไปทั้งเป็น โดยที่สตีฟไม่สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้ หนำซ้ำ ตอนที่หนังออกฉาย คนดูต่างพากันมองว่า แทนที่จะช่วยชีวิตเพื่อน สตีฟกลับตั้งหน้าตั้งตาถ่ายภาพ เพื่อประโยชน์ต่องานของตัวเอง
ดูเหมือนเท่านั้นจะยังไม่สาแก่ใจ ความสัมพันธ์ระหว่างสตีฟและเมียรัก (แองเจลิกา ฮุสตัน) เริ่มจะระหองระแหง แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะของการมีปากเสียง ทว่าออกมาทำนองจืดชืด ไร้รสชาติ คล้ายอยู่ด้วยกันนานๆ แล้ววันหนึ่งความรักมันก็ระเหิดไปเองโดยไม่รู้ตัว
ประจวบเหมาะกับที่สตีฟเพิ่งตระหนักว่า ตลอดการผจญภัยมาหลาย 10 ปี ไม่มีที่ไหนที่เขาไม่เคยไปอีกแล้ว นอกจากเขตน้ำหวงห้ามที่เจ้าฉลามจากัวร์หลบซ่อนอยู่ เขาจึงตัดสินใจว่า นี่จะเป็นการทิ้งทวนอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนจะอำลาวงการอย่างถาวร
พร้อมๆ กันนั้นแอนเดอร์สันก็พยายามบอกกับคนดูว่า ยังมีอีกแห่งที่สตีฟหลงลืม ไม่เคยได้ย่างกรายเข้าไปเลย มันเป็นที่รกร้างรอการสำรวจ และลึกล้ำดำมืดยิ่งกว่าทะเลไหนๆ นั่นก็คือ ตัวตนภายในของสตีฟเอง
เงื่อนไขที่หนังจงใจสร้างขึ้นคือการปรากฏตัวของ เนด (โอเวน วิลสัน) เด็กหนุ่มจากเคนตักกี ที่เป็นลูกนอกสมรสของสตีฟ เนดมาเพราะอยากเจอพ่อ หลังจากแม่ฆ่าตัวตายไปเมื่อเดือนก่อน เพราะทนทรมานกับมะเร็งไม่ไหว
สตีฟไม่มีทีท่าว่าจะขัดขืน แม้ในความเป็นจริงแล้วก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่า เนดเป็นพวกแอบอ้างหรือไม่ก็ตามที มีฉากหนึ่งในหนังที่เรียกเสียงหัวเราะได้เบาๆ และบอกเล่าบุคลิกทัศนคติของสตีฟได้ชัดเจนมากคือตอนที่เนดถามว่า ในเมื่อสตีฟมั่นใจออกอย่างนั้นว่า หญิงสาวที่เขาเคยมีความสัมพันธ์ด้วยตั้งท้องลูกของเขาเอง เพราะอะไรเขาจึงไม่เคยเดินทางไปหาเด็กคนนั้นบ้าง
สตีฟตอบไปอย่างหน้าตายว่า “ฉันเกลียดพ่อ ฉันไม่อยากเป็นในสิ่งที่ฉันเกลียด”
แต่ก็เลี่ยงไม่ได้แล้ว ที่การมาถึงของเนด ทำให้สตีฟสวมบทพ่อจำเป็นอย่างทุลักทุเล นิสัยเดิมๆ อย่าง ความบ้าระห่ำแบบไม่ห่วงใคร ช่างจิกกัดเหน็บแนม หรือการมองโลกในแง่ร้าย จำต้องลดไปเพื่อเหลือที่ว่างให้ใครอีกคนเข้ามาร่วมนั่งในชีวิต
ถึงจะมีเรื่องราวที่ชวนซาบซึ้งอยู่มากพอดูในหนัง แต่อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า น้อยครั้งที่คนทำหนังจะตอบสนองคนดูด้วยอารมณ์แบบนั้น มันถูกเบน (รวมทั้งบิดเบือน) ความสนใจไปยังฉากหลังที่แปลกตา (งานออกแบบงานสร้างในหนังเรื่องนี้ - เข้าขั้นสุดยอด) กับการแสดงที่แข่งกันตายซาก
นักดูหนังคงเห็นบิล เมอร์เรย์เล่นบท ชายวัยกลางคนที่กล้ามเนื้อใบหน้าตายมาแล้วหลายเรื่อง แต่แม้จะทำอย่างนั้นซ้ำอีกครั้งใน The Life Aquatic with Steve Zissou มันก็ยังไม่ใช่ความซ้ำซากที่ชวนให้เบื่อหน่าย ทว่าเมอร์เรย์กลายเป็นศูนย์กลางที่มีแรงดึงดูดมากที่สุด เขาไม่เพียงทำให้สตีฟ ซิสซูเป็นคนขึ้นมาจริงๆ แค่ภายนอกเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นเนื้อในอันงดงามและน่าสงสารของชายผู้นี้อีกด้วย
The Life Aquatic with Steve Zissou ไม่ใช่งานที่ยอดเยี่ยมถึงขนาดถ้าพลาดแล้วต้องรู้สึกผิด เวส แอนเดอร์สันคิดเยอะไป และยังย่อยงานของตัวเองไม่ดีพอ หลายส่วนยังดูหยาบ ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
อย่างไรก็ดี พร้อมกันนั้น มันก็เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่น่าเพลิดเพลิน เป็นตัวอย่างของคนทำหนังที่คิดเยอะๆ มองไกลไปข้างหน้าแบบไม่กลัวอันตราย และพยายามจะไม่ย่ำอยู่กับที่