ค้นหาหนัง

The Reaping

The Reaping
เรื่องย่อ : The Reaping

แคทเธอรีน อดีตมิชชันนารีคริสเตียน ผู้สูญเสียศรัทธาหลังจากลูกเธอต้องมาตายต่อหน้า วันหนึ่งมีหนุ่มจากเมืองฮาเว่นเดินทางมาพบเธอเพื่อขอร้องให้ไปคลี่คลายปริศนาที่กำลังสั่นประสาทชาวเมืองอยู่ นั่นคือจู่ๆ แม่น้ำประจำเมืองแดงฉานเป็นสีเลือด เธอตระหนักว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีคำอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และเธอจะต้องเรียกศรัทธาคืนมาเพื่อต่อสู้กับพลังมืดที่กำลังเข้าครอบงำเมืองนี้.M

IMDB : tt0444682

คะแนน : 7



เป็นเรื่องปกติที่คนมากมายจะเสียศรัทธาในเทพเจ้าประจำศาสนาของตัวเอง หลังจากต้องสูญเสียคนรักหรือไม่ก็ชีวิตเกิดพังทลายลมครืนลงมา

เมื่อไม่รู้จะโทษใครก็โยนให้ฟ้าดินรับไปแล้วกัน สาใจดี!

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าจิตใจของคนเราเติบโตขึ้นท่ามกลางการหล่อหลอมของสภาพแวดล้อม หากรอบตัวคนผู้นั้นดีก็ประเสริฐ แต่หากไม่ดีก็เข้ารกเข้าพงไร้แก่นสารกันไปเลย เปรียบเทียบได้กับต้นบอนไซหรือไม้เถาที่แม้จะเติบโตได้ตามธรรมชาติ แต่หากจะให้ได้รูปร่างสมส่วนสวยงาม ก็ต้องมีการเอาโครงลวดหรือไม้ซีกมาปักดินเป็นเสาหลักให้ต้นไม้นั้นได้มีเส้นทางในการเลื้อยพันจนได้รูป

สำหรับมนุษย์เรานั้นโครงลวดที่ว่าก็มีหลายประเภท เช่น พ่อแม่ปูย่า วงศาคณาญาติ ครูอาจารย์หรือแม้แต่คนข้างบ้านเป็นต้น แต่เนื่องด้วยคนเราที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มาก ทำให้โครงลำต้นที่ดูจะเหมาะสมที่สุดที่คนจะเอาเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตไม่ให้เสื่อมเสียหายก็คือสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา

แต่ละศาสนาที่กำเนิดมาในโลกและที่ยังมีชื่อเสียงตราบจนทุกวันนี้ล้วนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่พาคนข้ามให้พ้นช่วงทุกข์เข็ญมานักต่อนัก

ทว่าการมอง “ผล” แห่งการนับถือศาสนาออกจะเป็นอะไรที่เหมาะจะนำมาถกเถียงกันพอหอมปากหอมคอ มิใช่เพื่อให้เกิดข้อขัดแย้ง แต่ให้ลองคิดตรองดูพอให้สมองได้ใช้งาน

“ผล” แห่งการนับถือแต่ละศาสนาคนส่วนใหญ่จะมุ่งพุ่งเป้าไปที่การเหมือนมีบางสิ่งคุ้มกะลาหัวตัวเอง เช่น ถ้ามีผีมาหลอกก็ใช้บทสวดประจำศาสนาตนมาขับไล่ หรือ หากอยากรวย อยากขายของได้เงินทองทุกวันก็สวดคาถาขอพร หรือไม่ก็หาเครื่องลางดีๆ ที่ว่ากันว่าเรียกเงินได้สมใจนึกมาพกติดตัว

และ “ผล” ที่มีค่าที่สุดที่คนปรารถนาคือ เมื่อมีภัยมาถึงตัวหรือความตายมารอตรงหน้า ก็หวังว่าความดีที่ทำไปตามที่หลักศาสนาได้สั่งสอนจะสามารถมาช่วยตนให้รอดพ้นจากวิบากกรรมครั้งนั้นได้

การนับถือศาสนาในปัจจุบันมันเลยออกจะไปในทาง “สัญญาต่างตอบแทน” มากกว่าจะเป็นการนับถือด้วยความ “นับถือ” อย่างแท้จริง

เราจึงเห็นได้บ่อยๆ พอมีใครมาป่าวประกาศว่าที่ไหนมีเครื่องลางดีๆ พกแล้วเงินทองไหลมา คนก็พร้อมจะแห่ไปหามาครอบครอง พอเวลาผ่านไปเมื่อเครื่องรางตกรุ่นก็จะมีใครอีกคน (หรือไม่ก็คนเก่านั่นแหละ) มาป่าวประกาศว่ามีเครื่องรางรุ่นใหม่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น พกแล้วดี คนก็จะแห่ไปหามาติดตัว ส่วนเครื่องรางเก่าก็ค่อยๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา ความนับถือที่เคยมีก็จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลง เพราะคนพากันเทความนับถือไปที่เครื่องรางใหม่ที่ “ว่ากันว่า” ให้ผลดีกับผู้ครอบครอง

เลยเป็นคำถามที่น่าหาคำตอบเหมือนกันว่า ถ้าเครื่องรางเหล่านั้นไม่มีชื่อเสียงในทาง “ผลดีให้ลาภ” แล้วจะมีคนนับถือบูชาแต่ประการใดหรือไม่

หากเครื่องรางนั้นมีผลดีอย่างอื่น แบบไม่ใช่ในทางอิทธิปาฏิหาริย์แล้วจะมีคนเคารพหรือเปล่า?

แต่เท่าที่ดูจากแนวโน้มคำตอบในปัจจุบันแทบจะเดาได้ว่าถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดไม่ให้ตามที่เราขอแล้วล่ะก็ มีสิทธิ์สูงมากที่เราจะคว่ำบาตรใส่องค์ท่านอย่างไม่ใยดี!

ดั่งเช่นตัวเอกของหนังเรื่องนี้ก็เป็นอะไรที่คอหนังสยองน่าจะเจอกันบ่อย ตัวละครจำพวกมีเรื่องผิดใจกับพระเจ้า เนื่องจากเขาหรือเธอต้องมาสูญเสียคนรักไป คำถามก็ก่อขึ้นในใจทันทีว่าทำไมพระเจ้าเบื้องบนถึงไม่ช่วยให้คนที่ตนรักรอดชีวิต

เมื่อท่านไม่ให้สิ่งที่เราต้องการแปลว่าความเห็นเราไม่ตรงกัน ดังนั้นผลก็คือศรัทธาที่มีเป็นอันมลายหายสิ้นไป

แคทเธอรีน วินเธอร์ (Hilary Swank) อดีตผู้มีศรัทธาในพระเจ้าแต่ทุกอย่างปเนอันจบสิ้นเมื่อลูกเธอต้องมาตายต่อหน้า ทั้งๆ ที่เธออ้อนวอนขอพระเจ้าแต่หาได้เป็นผลไม่ เธอจึงก้าวออกจากร่มเงาศาสนาผันตัวเองกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางไปทุกแห่งหนที่มีคำร่ำลือว่ามีเหตุ “ปาฏิหาริย์ “เกิดขึ้น

จุดประสงค์หลักของเธอไม่ใช่ไปเพื่อยืนยันว่าปาฏิหาริย์จากพระเจ้ามีจริง แต่เพื่อเอาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไปหักล้างแล้วบอกกับทุกคนว่ามันเป็นเพียงเรื่องลวงโลกอีกชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง และสามารถเอาความรู้สายวิทย์ไปคิดหาคำตอบได้

แต่แล้วความท้าทายครั้งใหม่ก็เริ่มต้นเมื่อ ดั๊ก (David Morrissey) ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์หนุ่มจากเมืองฮาเว่นเดินทางมาพบเธอเพื่อขอร้องให้ไปคลี่คลายปริศนาที่กำลังสั่นประสาทชาวเมืองอยู่ นั่นคือจู่ๆ แม่น้ำประจำเมืองแดงฉานเป็นสีเลือด ทำให้ผู้คนคิดไปว่าอาจมีเหตุร้ายภัยพิบัติ 10 ประการตามตำนานเกิดขึ้นอีกครั้งที่นี่

แคทเธอรีนไม่เชื่ออย่างแน่นอนครับ แม้จะมีคนบอกกับเธอว่านี่เป็นเรื่องจริง ซ้ำคุณพ่อคอสติแกน (Stephen Rea) บาทหลวงที่เคยรู้จักเธอได้โทรศัพท์ทางไกลมาเพื่อเตือนว่ามีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นกับรูปของเธอที่เขาเก็บไว้ มันเป็นลางร้ายที่บอกเป็นนัยๆ ว่าการเดินทางครั้งนี้เธออาจเจออันตรายถึงชีวิต

แต่อย่างที่บอกว่าแคทเธอรีนไม่เชื่อเรื่องผีสางเทวดาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะวิทยาศาสตร์บอกอยู่โต้งๆ ว่าเรื่องพวกนี้เป็นเพียงเหตุบังเอิญหรือไม่ก็เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้น

ครั้นพอเธอและผู้ช่วยคู่ใจนามว่าเบน (Idris Elba) เดินทางมาถึงเมืองก็มุ่งตรงเข้าตรวจแม่น้ำสีเลือดทันที และผลการตรวจสอบออกมาให้เธออ้าปากค้างเป็นครั้งแรก … มันเป็นเลือดจริงๆ เลือดทั้งแม่น้ำเลย นั่นคือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่อธิบายไม่ได้ … ภัยพิบัติข้อที่หนึ่ง แม่น้ำจักแดงฉานดั่งโลหิต

แล้วในเวลาต่อมาภัยพิบัติก็ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละอย่างไม่ว่าจะฝนตกลงมาเป็นกบตาย, แมลงหาใหญ่บุกเข้าเมืองกัดกินพืชพันธุ์ธัญญาหาร, เชื้อโรคร้ายระบาด, ความมืดปกคลุม และลูกไฟยักษ์ตกลงมาจากท้องฟ้า

หรือภัยพิบัติทั้งสิบกำลังเกิดขึ้นจริงๆ กันแน่

หนังเรื่องนี้บอกตามตรงว่าไม่ได้ใคร่จะเรียกความสนใจเท่าใดตอนทราบว่ามันจะออกฉาย แม้หนังจะเป็นผลงานมาจากบริษัท Dark Castle ที่ Robert Zemeckis แห่ง Back to the Fure และ Forrest Gump กับ Joel Silver แห่ง Die Hard 2 ภาคแรกและ Lethal Weapon 4 ภาคมาร่วมกันก่อตั้ง เจตนาก็เพื่อผลิตหนังสยองออกมาปีละหนึ่งเรื่อง เรื่องแรกออกมาโอ้คนั่นคือ House on Haunted Hill แต่ถัดจากนั้นมาหนังไม่ใคร่จะเข้าตากรรมการซักกะเรื่องไม่ว่าจะ Thir13en Ghosts, Ghost Ship, Gothika และที่โดนกระหน่ำไปหนักสุดคือ House of Wax ที่ยิ่งทำความสยองก็น้อยลง ความสร้างสรรค์ก็เรียบจนคนดูแทบไม่เชื่อว่าสองคนนี้อำนวยการสร้าง ทำให้ DC หยุดไปเป็นปีเพื่อตั้งหลักใหม่ และนี่คือผลงานชิ้นที่ทุกคนหมายมั่นให้กลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับบริษัท เชิญดาราออสการ์อย่าง Swank มารับบทนำ พร้อมตามเอา Stephen Hopkins ผู้กำกับที่กลับมาแจ้งเกิดอีกหนจากหนังชุดสุดฮิต 24 ให้มานั่งเก้าอี้กำกับ ซ้ำเนื้อหาเรื่องราวก็ขุดเอาภัยพิบัติทั้ง 10 มาเล่น งานนี้ให้มันรู้ไป คัดที่ใหญ่ๆ มาทั้งนั้น

ส่วนผลที่ได้ก็บอกได้สั้นๆ ว่า ต้องหวังดังกันที่หนังเรื่องหน้าแล้วล่ะ

แม้ The Reaping จะได้คนทำคนแสดงที่มืออาชีพ เรื่องราวก็ทำท่าว่าจะสนุกและสยองซ่อนเงื่อนพอดู เรื่อง Special Effects แทบไม่ต้องพูดถึง ใส่กันแบบเต็มที่อยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญที่หนังทำได้ไม่ถึงขีดขั้นคือเรื่องของความสยองขวัญสั่นประสาท

หนังสยองนี่ ถ้าไม่สามารถทำให้คนดูขนหัวลุกได้เป็นอันจบกันพอดี

The Reaping เป็นผลงานที่ไม่ได้เกิดจากการรีเมคแต่อย่างใด (ตามปกติหนังของ Dark Castle จะเอางานเก่าๆ ยุค 70 มารีเมคสร้างใหม่เกือบทั้งหมด) แต่แม้จะไม่รีเมค ก็ยังมีกลิ่นอายหนังเก่าๆ ให้เราได้พอรู้ ตั้งแต่แนวเรื่องและโครงหลักของหนังออกแนว The Omen ในส่วนที่เกี่ยวกับอาถรรพ์และลางร้ายในหนัง ตามด้วยตัวละครเด็กลึกลับที่เหมือนจะกำเนิดมาเพื่อทำลายโลก ส่วนภัยพิบัติก็ไพล่นึกไปถึง The Mummy เวอร์ชั่นล่าสุด ส่วนตัวละครแคทเธอรีนก็ทำให้นึกไปถึงคุณพ่อเดเมี่ยนแห่ง The Exorcist ที่สูญเสียศรัทธาในพระเจ้าไป

ไม่รีเมคแต่ก็ได้กลิ่นอายคล้ายหลายเหมือน

ก็เอาเถอะครับ คล้ายหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่น่าจับตามองมากกว่าคือทำออกมาดีดูสนุกคุ้มเวลาหรือไม่

อันนี้บอกได้ว่า ถ้าไม่คิดมากและไม่หวังมาก หนังก็ดูได้เรื่อยๆ

อย่างที่บอกว่าบทหนังเหมือนจะสนุก แต่เอาเข้าจริงเรื่องภัยพิบัติ 10 ประการกลับนำเสนอแบบเรื่อยๆ ไม่ได้ใหญ่โตโอฬาร ไม่มีการขมวดให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ พอหนังขาดการเร่งเร้าก็เลยไม่รู้จะหาเหลี่ยมคูตรงไหนมาลุ้นให้ตื่นเต้น

ด้านความสยองก็ดังกล่าวไปแล้ว น้อยมาก ฉากที่พอจะสะดุ้งมีเพียงตอนที่แคทเธอรีนเจอกับ ลอเรน (AnnaSophia Robb) สาวน้อยปริศนาที่กุมชะตากรรมคนทั้งเมืองเอาไว้ ตอนสองคนนี้เจอกันครั้งแรกนั่นแหละครับยอมรับว่าตกใจเฮือกเหมือนกัน กับอีกฉากคือตอนแมลงร้ายรุมกินโต๊ะคน อันนี้ก็สร้างความผวาได้พอประมาณ แต่อย่างอื่นไม่ได้สยดสยองอย่างที่คาดไว้เลย

ที่พูดนี่แค่บอกถึงตัวหนัง ถ้าหากจะให้มีการเปรียบเทียบด้านลีลาการเดินเรื่อง ก็ไม่สามารถสร้างความหลอนได้เท่า The Omen เลย ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นดั้งเดิมหรือที่เพิ่งรีเมคไปเมื่อปีกลาย (2006)

นักแสดงก็มาเล่นแบบพอรับค่าตัวได้แบบไม่ขัดเขิน Swank ก็สบายๆ บทในเรื่องนี่ขนมอยู่แล้วล่ะครับ หนักกว่านี้ยังแสดงมาแล้วเลย ในเรื่องเธอดูสวยและน่ารักขึ้นเยอะกว่าแต่ก่อนน่ะครับ เข้าข่ายมีอายุอานาม ก็อะร้าอร่ามตามตัวเลข, Morrissey ดาราหนุ่มที่ได้โอกาส (ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้) ประกบ Sharon Stone ในหนัง Basic Instinct 2 มาแสดงนำเป็นดั๊ก ครูหนุ่มที่พานางเอกเข้าเมืองมาหาคำตอบ รายนี้ก็ดูล่ำสันคมเข้มใช้หยอก แต่บทก็ไม่ได้ทำอะไรนัก พอๆ กับ Elba ที่โผล่มาข้างนางเอกตลอด แต่ขโมยซีนไม่ยักกะสำเร็จ

คนที่เสียหายเยอะหน่อยคือ Rea นักแสดงชั้นดีคู่บุญผู้กำกับ Neil Jordan (The Crying Game, Interview with the Vampire, Michael Collins และ The End of The Affairs) ที่เล่นได้สบายๆ แต่บทดันย้อยซะนี่ น่าเสียดายตรงนี้แหละ

ส่วนหนูน้อยที่ผมปลื้มมาตั้งแต่ตอนเล่น Charlie and the Chocolate Factory และมาชอบหนักใน Bridge to Terabithia พอมาเรื่องนี้โทรมแต่ยังน่ารักครับ สำหรับการแสดงนั้นก็ไม่มีอะไรมาก ออกมาทำหน้าตานิ่งๆ อย่างเดียว ไม่เด่นอะไร

สรุปเบ็ดเสร็จออกมาแล้วตัวหนังเข้าข่ายธรรมดา ไม่ได้ห้ามพลาดต้องดูเป็นพิเศษ เพราะความน่าติดตามออกในทำนองเรื่อยๆ ดีที่หนังได้ตอนจบเข้าท่าๆ รองรับไว้เลยทำให้พอจะโอเคบ้าง

ส่วนที่ผมชอบจริงๆ เกี่ยวกับหนังก็มีฉากที่นางเอกเถียงเบนเรื่องภัยพิบัติ 10 ประการ ที่พอเบนเริ่มบอกว่าเรื่องภัยพิบัติที่เมืองนี้คงเป็นเรื่องจริง แคทเธอรีนลุกพรวดขึ้นมาแล้วร่ายทันทีด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ว่า ภัยพิบัติ 10 ประการที่เคยเกิดในอียิปต์นั้นอธิบายได้ทั้งสิ้น อย่างการที่แม่น้ำไนล์กลายเป็นสีเลือดก็เนื่องจากน้ำเสีย สีเลยออกช้ำเลือดช้ำหนอง ปลาตายลอยฟ่อง ส่วนกบที่ว่ากันว่าตกลงมาตายก็ไม่ใช่ แต่มันเพราะน้ำเน่านั่นแหละ พวกกบเลยยกขบวนขึ้นมาตายที่บนบก พอมันตายกันเยอะ เชื้อโรคเลยมาอันเป็นที่มาของภัยพิบัติโรคระบาด ช่วงที่เธอร่ายข้อโต้แย้งนี่ทำได้ดีล่ะครับ เป็นช่วงที่ผมประทับใจที่สุดในหนังแล้วล่ะ เพราะมันบอกท่าทีของผู้หญิงคนนี้ได้อย่างเต็มที่เลยว่าไม่ยอมรับเรื่องนี้อย่างแรงแม้จะเกิดภัยชนิดไหนก็เถอะ

สาเหตุเพราะเธอตั้งใจเป็นปรปักษ์กับปาฏิหาริย์ทุกรูปแบบในโลกนี้

เป็นธรรมดาที่หลายคนจะเสียศรัทธาเมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ช่วยเรา!

ในโลกจริงๆ คนไม่น้อยที่เป๋ในศรัทธาแบบแคทเธอรีน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะทุกคนบนโลกอยากมีความสุขสมบูรณ์พร้อมทั้งลาภยศเงินทอง ได้อยู่กับคนที่รักไปนานๆ

การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีคนใช้หลายแนวทาง บ้างก็ขอต่อองค์เทพไท้ สวดมนต์ไหว้วานไปวันๆ บ้างก็ลงมือทำด้วยตนเองเพราะเชื่อว่าชะตาเราเรานั่นแหละกำหนดเอง บ้างก็ผสมกัน ทางพระก็เอา ทางลงมือเองก็ทำ

จุดหมายเหมือนกันคือต้องการความสุขและสบาย แต่บทลงเอยลงท้ายค่อนข้างต่าง

คนประเภทพึ่งตัวเองทำด้วยน้ำพักน้ำแรงส่วนใหญ่ สู้ยิบตา ล้มแล้วก็ลุกใหม่ล้มอีกก็ลุกอีก ลุกมันไปจนกว่าจะมีสิ่งดีไหลมา ไม่โทษโชคชะตารวมถึงไม่โทษตัวเอง เพราะอดีตแม้จะผิดพลาดแต่สำหรับคนเหล่านี้มันเป็นอดีตที่อยู่เบื้องหลัง อาจใช้มันเป็นครูแต่ไม่เอามาเป็นนาย ไม่ให้มันมาบงการชีวิต ใบหน้าก็เบือนไปข้างหน้า หาข้ออ้างให้สู้แต่ไม่หาข้ออ้างให้ถอย

ส่วนคนอีกประเภท (อย่างแคทเธอรีน) พอสิ่งใดไม่เป็นไปตามใจหมายก็เลือกที่จะจมกับอดีต หันหลังให้พระเจ้า โทษคนอีกมากมาย อาจจะโทษตัวเองร่วมด้วย จนแม้ตัวเองจะอยู่ในปัจจุบัน แต่จิตใจนั้นยังหนีจากอดีตไม่พ้น

คนคิดแบบนี้อยู่ที่ไหนเวลาใดก็มีแต่ทุกข์ในเหมือนไฟสุมทรวง

เป็นเรื่องน่าเห็นใจครับ เพราะความเศร้าลองว่าเข้าใครแล้วออกยาก ขนาดคนเข้มแข็งก็ใช่ว่าความเศร้าจะไม่อาจทำอะไรได้ แต่จุดต่างคือบางคนพอรู้ว่าเศร้าก็รีบหาทางแก้ปัญหาออกจากวงจรทุกข์ใจ แต่บางคนไม่ไปไหน ย่ำต้อกเวียนวนอยู่นั่นปล่อยให้จิตใจโดนกัดกร่อนจนยากจะเยียวยา อยู่ที่ว่าท่านจะเลือกทางไหนกันแน่

ความจริงแล้วหนัง The Reaping สามารถแหวกแนวเดิมๆ แทนที่จะเน้นอิทธิปาฏิหาริย์ก็ไปเน้นเรื่องความเชื่อหรือศรัทธาแทน แต่เอาเข้าจริงหนังก็เข้าอีหรอบขายสยองเน้น Effect ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิด เพราะหนังแบบนี้รู้ก็รู้ว่าขายได้ในทุกชาติทุกภาษา เมื่อหนังเลือกเดินทางตาม The Omen ไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องโต้แย้ง ได้แต่เคารพการตัดสินใจของคนทำ

ตัวหนังนั้นผมเฉยๆ แต่แนวคิดที่ได้มานี่แหละออกจะกำไรหน่อย

พอมองแคทเธอรีนที่หันหลังให้พระเจ้าหลังจากที่พระองค์ไม่ช่วยต่อชีวิตให้ลูกเธอ ก็อดมองต่อมาถึงบ้านเราไม่ได้ว่ามีคนอีกแค่ไหนจำกัดความศรัทธาอยู่แค่ผลที่ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ประทานให้กับตน เช่นเครื่องลางที่พกแล้วดี เลยเกิดคำถามว่าถ้าพกแล้วไม่ได้ผลตามคาด ท่านจะนำเอาความผิดพลาดนั้นไปโทษกับใคร

จริงๆ ปาฏิหาริย์ก็เป็นกุศโลบายหนึ่งที่ชักนำให้คนทำดี ทำกุศล แต่หลายคนเชื่ออย่างเอาเป็นเอาตาย เชื่อว่าทำดีเยอะๆ แล้วปาฏิหาริย์น่าจะเกิด พอไม่เกิดก็หงุดหงิด ถ้าจะบอกว่าปาฏิหาริย์เป็นดาบสองคม สร้างศรัทธาได้ก็ล้มศรัทธาได้เช่นกัน

แต่คนที่สร้างหรือล้มไม่ใช่ปาฏิหาริย์ มันเกิดจากการปรุงแต่งของคนเราเองนั่นแหละ

แนวทางศาสนาเขาสอนให้คนศรัทธาในตนเองก่อน (หรือถ้าพูดในภาษาเข้าใจง่ายคือเชื่อมั่นในตัวเอง) แล้วอะไรดีๆ ก็จะตามมา ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เราเรียนมาว่า ทำอะไรด้วยความมั่นใจย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

อะไรเหล่านี้มองได้ทางหนึ่งว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง พระเจ้ามีจริง แต่ท่านไม่ได้เสกโน่นนี่ให้เราตามใจนึก จุดประสงค์หลักในคำสอนท่านไม่ใช่ให้คนงมงาย แต่เพื่อให้คนมีแนวทางปฏิบัติในชีวิต ส่วนเรื่องอภินิหารนั้นไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่ากับการมีชีวิตอย่างมีสุขไปจนสิ้นอายุขัย

ชีวิตคนเรามีทั้งสุขและทุกข์ สิ่งที่แต่ละศาสนาบอกก็คือท่านควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร ไม่ว่าจะพึ่งตนเองให้ได้ เจือจานความกรุณาไปที่คนอื่น มอบความรักให้แก่กัน ลดอัตตา เพิ่มเมตตา ปล่อยวางสิ่งต่างๆ บ้าง หากถือแล้วมันหนักก็วางลง

ปาฏิหาริย์ทำได้ด้วยตนเองครับ ไม่ใช่แหวกทะเลแดงหรือสร้างพายุฝน แค่ท่านสามารถสู้ชีวิตผ่านอุปสรรคไปได้นั่นก็นับเป็นปาฏิหาริย์ประการหนึ่งในชีวิตแล้ว

ครั้นมองมาถึงเครื่องลางของขลังก็อีก คนเราเชื่อว่าพกมากๆ แล้วดี ทำมาหากินคล่อง แต่หากมองอีกทางหนึ่งคุณประโยชน์ของเครื่องรางหรือพระเครื่องไม่ได้มีแค่พกแล้วเกิดสิ่งดีๆ เท่านั้น แต่เพื่อให้คนตระหนักว่ามีพระอยู่กับตัว จะทำชั่วก็ให้มองมาที่ท่านบ้าง

อีกหนึ่งมุมมองคือ เมื่อท่านเกิดความท้อแท้หรืออุปสรรค ก็ให้ท่านมองพระเครื่องหรือสื่งที่ท่านนับถือแล้วไตร่ตรองดูว่าพระองค์นั้นก็เคยฝ่าฟันผจญมากมายแค่ไหน อย่างเช่นพระพุทธองค์ทรงเผชิญหมู่มารร้อยแปด พร้อมคนดูหมิ่นดูแคลนอีกมากมายท่านหาได้โกรธกริ้วไม่ หรือจะพระเยซูที่โดนตรึงกางเขน พร้อมโดนทรมานหยามเหยียด แต่พระองค์ก็ไม่ละความพยายามในการเผยแผ่คำสอน

คิดแล้วให้ใจหึกเหิม ว่าอย่าท้อง่ายๆ

ตัวผมเองเลยออกจะมีมุมมองต่อเครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เขาบอกว่าท่านจะอยู่กับเราเมื่อศรัทธา อยู่กับเราที่ว่านี่ไม่ใช่แปลว่าท่านจะช่วยเสกสรรบันดาลสิ่งที่เราต้องการให้ แต่ท่านจะอยู่เสมือนต้นแบบให้เราได้เดินตามรอย

ถ้าเราคิดได้เช่นนั้นไม่ว่าจะเจอภัยร้ายร้อยแปดศรัทธาก็ไม่ไปไหน แต่หากมัวแต่คิดว่าเราอุตส่าห์นับถือทำไมตอนเจอเรื่องลำบากท่านถึงไม่ช่วยเรา คิดแบบนั้นศรัทธาจะยืนยงได้เพียงใด

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่แปลว่าปาฏิหาริย์ไม่มีจริง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีตัวตน ผมเองก็ไม่ยืนยันฟันธง ไม่ใช่ไม่เชื่อ เพราะใจลึกๆ เชื่อว่ามีจริง แต่ไม่รู้จะเอาหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ หรือจะเอาหลักทางวิทยาศาสตร์มาหาข้อเท็จจริงก็ไม่น่าจะได้ เนื่องจากจะว่าไปแล้วยังมีอีกร้อยแปดพันอย่างที่วิทยาศาสตร์ก็ให้คำตอบไม่ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะนอกอวกาศ ใต้สมุทรหรือแม้แต่ใต้จิตสำนึกเรา

ยังมีอีกหลายอย่างที่ด้วยศักยภาพของเราก็ยังไม่อาจหาคำตอบได้

อย่างน้อยก็ศรัทธาตัวเองให้ได้ก่อน สิ่งดีๆ จะตามมา ไม่ต้องไปหาคำตอบว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงหรือไม่ เพราะเชื่อแน่ว่าหลายคนหมายมั่นที่จะขอหวยขอพร มากกว่าขอแนวทางคำสอนในการใช้ชีวิต

กลับมาเรื่องหนังนะครับ ไปไกลเชียว ตัวหนังเองก็เรื่อยๆ ไม่ได้มีอะไรเด็ดขาด แต่ก็จุดประกายให้คิดได้พอควร

ถ้าอยากดูความสยองต้องบอกว่าน้อย แค่อย่างนั้นๆ ส่วนสาระที่ผมร่ายมาเยอะนั้นหนังก็ไม่ได้สื่อ แค่เกริ่นพอเป็นพิธี อย่าเพิ่งเข้าใจว่าหนังสื่ออะไรขนาดนั้น ที่ผมร่ายนั้นมาจากความคิด (หรือความเพ้อ) ของผมเอง เป็นการคิดระหว่างดูหนังเรื่องนี้เลยยกมาใส่

หนังอาจไม่มีอะไร แต่ก็ใช่จะไม่มีอะไร