IMDB : tt0111495
คะแนน : 10
“ ฉะนั้นสามสิ่งนี้ยังคงอยู่คือ ความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก แต่ความรักยิ่งใหญ่ที่สุด”
ข้อความตอนหนึ่งจาก 1 โครินธ์ 13 ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ที่ใจความสำคัญของคริสต์ศาสนาก็คือ ความรัก เช่นเดียวกับ Three Colors: Red ของคีชโลฟสกี้ ใช้วิธีการเล่าโดยเกี่ยวโยงเรื่อราวของผู้คนรอบตัววาเลนทีน (ชื่อไปพ้องกับความแห่งความรัก) เข้าด้วยกัน ท่ามกลางสังคมร่วมสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเหมือนสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ของมนุษย์ โทรศัพท์ก็ทดแทนจดหมาย จากแต่ก่อน หากเราต้องการคุยกับใครสักคน เราก็คงต้องไปหาเขาที่บ้าน แต่สมัยนี้เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ขึ้นก็ได้คุยกัน แต่ในความสมบูรณ์แบบของอุปกรณ์เหล่านี้ คีชโลฟสกี้ กี้ก็หาข้อด้อยของมันมาสำแดงให้เห็นจนได้ อย่างฉากที่แฟนของวาเลนทีนพยายามจะโทรหาเธอ แต่หลายๆครั้งที่เธอก็รับโทรศัพท์เขาเกือบจะไม่ทัน หรือแม้แต่ช่วงท้ายของหนังที่วาเลนทีนก็ทะเลาะกับแฟนผ่านทางโทรศัพท์ จนสุดท้ายเธอก็ต้องไปสะสางรอยร้าวเล็กๆในความสัมพันธ์ด้วยการไปหาเขา (พร้อมๆกับการได้กลับบ้านไปเยี่ยมแม่ของเธอ) คีชโลฟสกี้ อาจพยายามบอกเราว่า ไม่ว่าอย่างไรเทคโนโลยีก็ไม่อาจทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของความรัก เมื่อกี่ร้อยปีที่แล้ว ความรักเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็เป็นเช่นเดิม
สีแดงหนึ่งในสามสีที่ปรากฎธงชาติฝรั่งเศสหมายถึงความเป็นฉันพี่น้องกัน นั่นอาจรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือความรัก ซึ่งตามคัมภีร์ไบเบิ้ลอย่างที่เรากล่าไว้ในช่วงต้น ก็ได้พูดถึงสามสิ่งเช่นเดียวกับสีธงชาติ นั่นคือ ความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก ก็ไปพ้องกับ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อย่างในตอนแรกของหนังไตรภาคของคีชโลฟสกี้ ที่กล่าวถึงการสูญสิ้นศรัทธาของคนเป็นแม่ที่ต้องเสียสามีและลูกไปอย่างกระทันหัน และในตอนสุดท้ายนี้เองเขาก็เน้นย้ำถึงแก่นแท้ของศาสนา วาเลนทีน สาวที่ไร้เดียงสา อ่อนโยน และเชื่อมั่นในความรัก ระหว่างที่เธอขับรถ เธอพยายามปรับวิทยุแล้วดันไปชนสุนับท้องแก่ นั่นเองทำให้เธอได้พบกับเจ้าของของมัน เคิร์น อดีตผู้พิพากษาที่ช้ำรักในวัยหนุ่ม นับแต่นั้นมาเขาก็ไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ความรักอีกเลย ทั้งสองคือขั้วตรงข้ามที่สวรรค์ดลบันดาลในมาเจอกัน (ฉากที่เคิร์นไปดูวาเลนตีนเดินแบบ เขาอยู่ข้างล่าง ส่วนวาเลนทีนอยู่บนเวลา ทั้งสองยื่นมือเข้าหากัน เหมือนว่าวาเลนทีนดึงเคิร์นออกจากความทรงจำอันมืดมนของเขา)
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จากครั้งแรกที่วาเลนทีนเดินออกจากบ้านตาแก่เคิร์นด้วยความหงุดหงิดจากคำพูดที่เย็นชาและใบหน้าที่ไร้อารมณ์ต่อเหตุการณ์ที่เธอขับรถชนสุนัขของเขา มิตรภาพค่อยๆก่อตัวขึ้น จนกลายเป็นว่าในท้ายที่สุดเธอก็สามารถดึงชายแก่ที่หมกตัวอยู่ในบ้านอย่างโดดเดี่ยว ให้ออกมาพบปะผู้คนและสร้างพลังในการดำเนินชีวิต พร้อมกันนั้นคีชโลฟสกี้ก็เล่าเทียบเคียงอดีตเรื่องราวความรักอันขมขื่นของเคิร์นกับออกุสต์ ชายหนุ่มในละแวกบ้านของวาเลนทีน (หนังฉลาดที่ไม่ใช้การแฟลช์แบค แต่ใช้การเล่าเทียบกับเหตุการณ์จริง ซึ่งทำให้เกิดความหมายสอดรับกับสังคมเทคโนโลยีที่ต่างคนต่างอยู่ไม่สนใจกัน) แทบทั้งเรื่องเขาและวาเลนทีนไม่มีโอกาสได้พบเจอกันจริงๆ จะมีก็เพียงตอนท้าย ลองจินตนาการดูว่าถ้าหากทั้งคู่ตายไปในเหตุการณ์เรือล่ม ทั้งคู่ก็ไม่อาจได้พบกัน และดูเหมือนว่าหนังพยายามจะสื่อว่าเขาและเธออาจได้รักกัน นั่นหมายถึงว่า ถ้าวาเลนทีนไม่รอด เธอก็คงตายโดยที่ยังขัดแย้งกับแฟนอยู่ และออกุสต์ก็คงตายไปทั้งๆที่ยังโกรธแค้นกับรักที่ไม่สมหวัง และทั้งคู่ก็คงไม่ได้รักกัน
หนังใช้เลขเจ็ดซึ่งดันไปพ้องกับบาปเจ็ดประการของมนุษย์สอดแทรกในหนัง ไม่ว่าจะเป็นลูกสุนัข (นั่นอาจสื่อถึงชีวิตใหม่ที่เคิร์นได้รับ) และตัวเลขผู้รอดชีวิตจากเรือล่ม ซึ่งผู้รอดชีวิตก็ต่างเป็นตัวละครที่เคยปรากฎในหนังของคีชลอฟสกี้ โดยเฉพาะนางเอกจากทั้งสามเรื่องซึ่งแทนถึง faith, hope และ love อันปรากฎในพระคัมภีร์ เรือล่มก็ชวนให้นึกถึงเรือโนอาห์ แสดงถึงมุมมองของคีชลอฟสกี้เอง เขาผ่านสงครามโลก โศกนาฏกรรมที่ทุกคนต่างอยากลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เหมือนกับโรมันโปลันสกี้เพื่อมร่วมสถาบันที่มันตีตราและนำเสนอสงครามโดยนำเสนอให้เห็นเหตุการณ์ที่ทารุนโหดร้าย ต่างจากคีฟลอฟสกี้ เขามองสงครามในอีกมุม เขาค้นหาความงดงามที่ซุกซ่อนตามหลืบมุมของความสิ้นหวัง แล้วนำเสนอออกมาในท่าที่ประนีประนอม สดใส และอ่อนโยน แต่ในขณะเดียวกันก็หนักอึ้ง พานให้รู้สึกจุกเสียดได้เช่นกัน อย่างใน The Double Life of Veronique (1991) เช่นเดียวกับเลขเจ็ดที่เป็นตัวแทนของบาป แต่สำหรับเขานี่คือชีวิตใหม่ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก
ช่วงตอนก่อนที่วาเลนทีนจะนั่งเรือไปหาแฟนและแม่ของเธอ ด้วยความที่เคิร์นเป็นห่วงเขาจึงโทรไปถามสภาพอากาศในวันนั้น ซึ่งพนักงานรับสายก็คารินคือแฟนที่ทิ้งออกุสต์ไป (จริงๆแล้ว เคิร์นเคยทำนายไว้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะไปไม่รอด) ซึ่งคารินก็ดันไปพ้องกับตัวละครหลักในหนังศาสนา Through a Glass Darkly (1961) ของเบิร์กแมน คารินในหนังของเบิร์กแมนคือหญิงที่เพิ่งกลับจากโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งแทนถึงหญิงที่ไม่ศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งก็ดันไปตรงกับคารินในหนังของคีชโลฟสกี้ เธอเองก็เป็นหญิงหลายใจเป็นตัวแทนของความรักที่หลงผิด และอีกอย่างคือ Through a Glass Darkly ก็ดันเป็นถ้อยคำที่มาจาก 1 โครินธ์ 13 เช่นเดียวกันกับเนื้อเพลงใน Song for the Unification of Europe เพลงธีมหลักใน Three Colors: Blue
ความหมายของ Through a Glass Darkly นั่นก็คือการมองผ่านกระจกขุ่นมัวหรือเลนส์ที่บิดบังความจริงเอาไว้ นั่นจึงทำให้เราเข้าใจหรือรับรู้สิ่งนั้นผิดไป แต่ในท้ายที่สุดเราก็จะพบความพิสุทธิ์ของความจริง นั่นก็หมายถึงเคิร์นที่เขาจมกับอดีตทั้งเรื่องคนรักและหน้าที่การงาน นั่นหมายถึงวงการยุติธรรม เขาตั้งคำถามมากมายให้กับตนเองและหาคำตอบไม่ได้ ชีวิตเขาวนเวียนอยู่กับนามธรรม คิดถึงเรื่องกะลาสีที่เขาพิพากษาว่าบริสุทธิ์ แต่เมื่อสืบไปปรากฏว่าเขาผิด เขาถามวาเลนทีนว่า เราไม่ทำผิดกฎหมายเพราะกลัวถูกลงโทษหรือเพราะว่าเรามีจิตใจที่ดีจริงๆ เขาใช้สายตาที่ดูถูกจิตวิญญาณของมนุษย์ และตัดสินผู้คนราวกับซาตาน สาปแช่งว่าครอบครัวข้างบ้านเขาจะล่มสลาย มองว่าเพื่อนบ้านเป็นแก๊งค้ายาย หรือแม้แต่สาปแช่งคู่รักในเลิกกัน แต่ตอนท้ายเขาก็ได้ค้นพบแง่มุมใหม่ของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ ความรักไม่ใช่สิ่งที่น่าพรั่นพรึงอย่างที่เขามองมาตลอด สุดท้ายเขาก็มองผ่านกระจกที่ชาวบ้านขว้างก้อนหินใส่ (หลังจากที่เขาสารภาพว่าเขาแอบดักฟัง) น้ำตาค่อยๆไหลริน นั่นเองคือวินาทีที่เขาได้รู้ถึงนิยามความรักที่แท้จริง