ค้นหาหนัง

United 93 | ไฟลท์ 93

United 93 | ไฟลท์ 93
เรื่องย่อ : United 93 | ไฟลท์ 93

เหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ช็อกผู้คนได้ทั้งโลกและทำให้ผู้คนมากมายกลายเป็นพยานการก่อวินาศกรรมครั้งสำคัญ เมื่อผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งบุกจี้เครื่องบินโดยสารในสหรัฐอเมริการวม 4 ลำ ก่อนจะนำเครื่องบินทั้งสี่พุ่งชนเป้าหมาย สองลำพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ อีกหนึ่งลำพุ่งชนอาคารเพนตากอน ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ส่วนลำสุดท้าย เครื่องของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ไฟลต์ที่ 93 เกิดการต่อสู้ระหว่างผู้โดยสารกับผู้ก่อการร้าย จนเครื่องตกที่เพ็นน์ซิลเวเนีย ก่อนถึงจุดหมายที่คาดกันว่า ถ้าไม่ใช่รัฐสภาของสหรัฐฯ ก็คือทำเนียบขาว

IMDB : tt0475276

คะแนน : 8



United 93 เป็นชื่อของเที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ หนึ่งในเครื่องบินโดยสารที่ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้าไปยึดกลางอากาศ เป้าหมายของมันคือพุ่งเข้าชนทำเนียบขาว แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับไปตกในพื้นที่โล่งแถบเพนซิลวาเนีย

จากหลักฐานทั้งที่ได้จากกล่องดำ และปากคำญาติๆ ของผู้เสียชีวิต ซึ่งเล่ามาว่าได้คุยโทรศัพท์กับคนที่ตนเองรักก่อนที่พวกเขาจะตายจากไป – พบว่า ผู้โดยสารเกือบทั้งลำมีการขัดขืน และต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เครื่องบินตกคลาดเคลื่อนไปจากเป้าที่หมายไว้

จะมองว่าคนเหล่านั้นเป็นฮีโรก็ได้ (ซึ่งคนอเมริกันคงสถาปนาไปกันเองเรียบร้อยแล้ว) แต่พอล กรีนกราส ไม่ได้จงใจให้หนังมีน้ำเสียงออกมาในทำนองนั้นอย่างชัดเจน United 93 คล้ายกับหนังที่ชวนให้ระลึกถึง และสงบนิ่งไปกับความสูญเสียมากกว่า

เห็นได้ชัดก็คือ หลังจากเหตุการณ์ในหนังจบลง มันแทบไม่มีอารมณ์ฮึกเหิมลอยกรุ่นอยู่เลย แต่กลับทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่า เงียบงัน และหัวใจก็เหมือนถูกแผ้วถางเสียราบคาบ

ที่โดดเด่นมากที่สุด United 93 ไม่มีการตัดสินว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ไม่ยอมให้คนดูเกิดความผูกพันกับตัวละครตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป ไม่มีการเหน็บแนมเสียดสีว่าระบบการจัดการนั้นล้มเหลวหรือไม่ ทุกอย่างเป็นชุดเหตุการณ์ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว ไม่มีความลับอันใหม่ใดๆ ถูกเปิดออกเพื่อสร้างความตื่นเต้น และแน่นอน มันก็ไม่มีความหวังลมๆ แล้งๆ อันใดยื่นให้กับคนดูด้วย

หนังเลยคล้ายกับการขับลำนำอย่างห้วนๆ ไม่มีการเจือทัศนคติหรือความน่าสมเพชเวทนาลงไปอย่างเกินเลย กรีนกราสดึงคนดูและหนังไปสู่ “ความจริง” ให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้

เทคนิคการเล่าเรื่องเป็นไปตามที่กรีนกราสถนัด และเคยทำมาไว้อย่างดีเยี่ยมในงานที่คว้ารางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังเบอร์ลินของเขาเรื่อง Bloody Sunday (ปี 2002) หนังเรื่องนั้นเขาเล่าถึงการสังหารหมู่ชาวไอริชของกองทัพอังกฤษ ในการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการคืนอำนาจ และกลายเป็นประวัติศาสตร์นองเลือดในปี 1972

กลวิธีการเล่าเรื่องดังกล่าวเริ่มต้นพื้นๆ ด้วยการใช้กล้องแฮนด์เฮลด์ จับภาพที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แสงเงานั้นปรุงแต่งแต่น้อย เกินกว่าครึ่งดูดิบและหยาบ ตัวละครมากหน้าหลายตามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์อย่างยุ่งเหยิง ไม่ต่างกับการจำลองภาพข่าวที่ดูเหมือนจริง

มคิดว่าใน United 93 มีการใช้เทคนิคเพื่อเล่นกับอารมณ์ของคนดู ชัดเจนเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ตอนแรกคือจังหวะการเข้าชนตึกเวิร์ลด์เทรดของเครื่องบินลำที่สอง และอีกตอนหนึ่งคือจังหวะการเลือกจบเรื่อง พ้นไปจากนี้ หนังเลือกที่จะวางตัวเองไว้ในแนวราบอย่างเงียบๆ

ฉากหลังของหนังแบ่งได้เป็น 2 ส่วนกว้างๆ คือบนไฟลท์ที่ 93 และตามหน่วยควบคุมจราจรทางอากาศทั้งของเอกชนและกองทัพ แต่ทุกคนที่อยู่ในทั้ง 2 สถานที่ ต่างก็รู้สึกในอย่างเดียวกัน พวกเขาทำอะไรไม่ถูก และต้องการคำอธิบาย

อย่างที่ย้ำไปในตอนต้นว่า United 93 ไม่มีคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น มันพยายามจะเป็นกระจกพื้นเรียบที่สะท้อนความเป็นจริงออกมาโดยไม่ยอมให้แสงหักเห บิดเบือนหรือบิดเบี้ยว ความจริงที่ปรากฏจึงทั้งน่าเศร้า และก็น่าสะพรึงกลัวไปพร้อมๆ กัน

หนังไม่มีความกระจ่างใดๆ ให้กับตัวละครเลยว่าลงท้ายแล้วมันเกิดอะไรขึ้น และท่านประธานาธิบดีมีแผนตั้งรับอย่างไร ตัวละครตัวหนึ่งถึงกับถามขึ้นมาว่า แอร์ฟอร์ซวัน บินไปไหน แล้วตกลงจะต้องยิงสกัดเครื่องบินที่ถูกจี้หรือเปล่า?

เช่นกัน หลังจากเหตุหนนั้น ความคลุมเครือยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในการกระทำของท่านประธานาธิบดี ตกลงแล้วกองทัพบุกอิรักเพื่ออะไร ซัดดัมมีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือ และ อุสมา บิน ลาเดน ผู้ร้ายที่ท่านประธานาธิบดีกล่าวหา มุดหัวอยู่ที่ไหน

ความจริงเหล่านี้ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม