ค้นหาหนัง

Wimbledon

Wimbledon
เรื่องย่อ : Wimbledon

ปีเตอร์ นักเทนนิสมือวางอันดับโลก ที่ตอนนี้เริ่มท้อกับอาชีพที่เคยไปถึงอันดับที่ 11 ของโลก เขาคิดว่าจะแข่งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะแขวนแร็กเก็ต จนเขาได้มาพบกับ ลิซซี่ นักเทนนิสสาวดาวรุ่งเป็นถึงตัวเก็งในการแข่งขันครั้งนี้ที่พักเก็บตัวในโรงแรมเดียวกัน แล้วท่าทางของคนทั้ง 2 ก็เป็นไปได้ด้วยดี แต่อุปสรรค์ก็มีมา เรื่องราวจะเป็นยังไงไปรับชมกันเลย

IMDB : tt0360201

คะแนน : 6



กราฟฟิคเปิดเรื่องในการขึ้นเครดิตคนละข้างสลับกันไปมาแสดงให้เห็นชัดว่า ปัญหาจริงๆ ที่หนังต้องการจะบ่งบอกกับเราก็คือการหาความสัมพันธ์ที่อยู่ระหว่างกึ่งกลางของคู่รัก แต่เอาเข้าจริงในฐานะที่ทั้งคู่เป็นนักกีฬาที่เล่นกีฬาที่ต้องมีการแบ่งข้างกันตลอด ทำให้ภาพของความสัมพันธ์ที่เคยสวยงามถูกบดบัง ไม่ว่าจะเป็นลิซซี่ที่อารมณ์เสียเมื่อรู้สึกโดนเอาเปรียบ ความต้องการแรงบันดาลใจที่เกินพอดีของโคลท์

หากใครที่เคยชมภาพยนตร์ของค่ายหนังอังกฤษอย่าง Working Title อย่าง Notting Hill, Bridget Jone ‘s Diary, Love Actually ซึ่งถนัดหนังรักโรแมนติค-คอเมดี้ เหลือเกิน เราก็จะได้พบฉากคลี่คลายในช่วงท้ายของ Wimbledon ในลักษณะเดียวกับ Notting Hill เมื่อปีเตอร์ โคลท์ กล้าเผยความรู้สึกออกมาให้ทุกคนได้รู้(หลายๆเหตุการณ์ใน Wimbledon เองก็ชวนให้นึกถึง Notting Hill ภาคนักเทนนิสไปได้เหมือนกัน) หนังทำฉากนี้ได้พอเหมาะ รวมไปถึงมุขตลกที่ใส่เข้ามาอย่างถูกจังหวะและไม่ทิ้งช่วง เสน่ห์ของนักแสดงระหว่าง เบตตานี และดันสท์ ถือว่าเป็นคู่ที่ทำปฏิกิรยาเคมีกันได้ลงตัวไม่น้อยหน้าใครเลยทีเดียว

สิ่งที่ทำให้ Wimbledon ไม่สนุกเท่าที่ควรคือการวางให้หนังเป็นทั้งหนังรักและหนังกีฬารวมกัน ดูเหมือนหนังจะเน้นสัดส่วนตรงกลางมากไปหน่อย หนังจึงมีทั้งฉากรักปนตลก กับฉากแข่งขันเทนนิสในปริมาณเท่าๆ กัน ความน่าเชื่อถือในความรักอันรวดเร็วของ ปีเตอร์ และลิซซี่ จึงขาดความน่าเชื่อถือไปพอสมควร ยิ่งในส่วนของการแข่งขัน หลายฉากต้องถือว่าเป็นความพยายามสร้างแมตช์ที่ดูตื่นตาตื่นใจเกินไปด้วยภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ ทำให้เสน่ห์ของการแข่งขันลดลงตามไปด้วย

Working Title มักจะนำผู้กำกับเก่งๆ มาทำหน้าที่ในหนังรักที่มีไอเดียใหม่ๆ เสมอ อาทิ โรเจอร์ มิทเชล(Posession), พอล ไวทซ์(About a Boy), สตีเฟน เฟรียส์(High Fidelity) คราวของ Wimbledon เป็นของ ริชาร์ด ลองเครน เจ้าของผลงาน Richard III ที่ได้รับคำชมเมื่อตอนที่ออกฉาย น่าเสียดายที่ศักยภาพของลองเครนดูจะไม่สามารถสร้างความโดดเด่นให้หนังเรื่องนี้ ในระดับเดียวกับที่ Working Title ทำได้ในเรื่องอื่นๆ

ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากบทที่กลายเป็นสูตรสำเร็จหนังรักของค่ายนั่นเอง ตั้งแต่ความสำเร็จจาก Four Weddings and a Funeral(1994) หลังจากได้สร้างหนังรักคุณภาพที่มีความลงตัวมาหลายเรื่อง มาถึงตอนนี้ดูเหมือนจะมีสัญญาณเตือนให้กับทางค่ายแล้วว่าต้องหาทางออกใหม่ๆ กับหนังรักเสียที แม้ว่าเรื่องนี้จะเปลี่ยนจากมือเขียนบทหลักอย่าง ริชาร์ด เคอร์ติส ไปแล้วก็ตาม

ด้วยมาตรฐานทั่วไป Wimbledon ยังคงเป็นหนังรักดูสนุก แต่มันก็ไม่สามารถเป็นหนังรักที่ดีได้ เหมือนกับที่ไม่สามารถเป็นหนังกีฬาที่ดีได้เหมือนกัน

ถึงกระนั้นจุดเด่นที่น่าชื่นชมของหนังมีอยู่สองอย่าง ส่วนแรกคือการแสดงของเบตตานี และดันสต์ที่ปราศจากเครื่องสำอางตบแต่ง แต่พวกเขากลับมีเสน่ห์และดูดีได้ ด้วยบุคลิกและฝีมือการแสดงแท้ๆ ถือเป็นข้อพิสูจน์อันดีในการเห็นเบตตานีในบทนำ กับดันสต์ในบทที่ไม่ต้องหวือหวาอะไรนัก

อีกอย่างคือเรื่องครอบครัวของโคลท์ซึ่งใส่เข้ามาในเรื่อง หนังแสดงให้เห็นเป็นนัยว่ามีความห่างเหินกันอยู่ไม่น้อย แต่ไม่เปิดเผยแสดงออก สังเกตได้จากการที่พ่อแม่ของเขาแยกสัดส่วนในบ้านกัน จนเมื่อโคลท์ต้องการกำลังใจนั่นเอง ครอบครัวของเขาจึงมาปรองดอง เฉลยสาเหตุซึ่งไปพ้องกับเรื่องการหาแรงบันดาลใจ และหาความพอดีในชีวิตได้อย่างสวยงาม