ค้นหาหนัง

เปนชู้กับผี | The Unseeable

เปนชู้กับผี | The Unseeable
เรื่องย่อ : เปนชู้กับผี | The Unseeable

ยามประเทศ ปี พ.ศ. 2477 นวลจัน สาวตั้งครรภ์เดินทางเพื่อตามหาสามีที่หายตัวไปของเธอ เธอได้ขอเข้าพักอาศัยในคฤหาสน์ของแม่ม่าย ชื่อว่า รัญจวน นอกจากเธอแล้ว ผู้คนในคฤหาสน์ยังมีแม่บ้านใหญ่ซึ่งสวมชุดดำปิดคอตลอดเวลา เธอเป็นผู้คอยดูแลคฤหาสน์ชื่อ สมจิตและสาวใช้ชื่อ ช้อยซึ่งเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือนวลจัน ในไม่ช้า นวลจันก็ค้นพบว่าในคฤหาสน์มีเรื่องราวอันน่ากลัวซุกซ่อนอยู่ รวมถึงความไม่ชอบมาพากลของบรรดาผู้พักอาศัยในคฤหาสน์แห่งนี้

IMDB : tt0950500

คะแนน : 7



จริง ๆ แล้วไม่ใช่คนชอบดูหนังผีเลย เพราะดูแล้วจะชอบหลอนตัวเอง
แต่ทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนรีวิวอีกครั้ง เพราะว่า เมื่อสองสามปีก่อน
ไปเดินมหกรรมหนังสือแห่งชาติมา เห็นว่า สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์
มีการนำบทภาพยนตร์มาปรับให้เป็นเวอร์ชั่นนิยาย พร้อมบทพิเศษที่ไม่มีในหนังด้วย
มี DVD หนัง Blue-Ray แผ่นแท้ ลดราคา แถมพี่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
ผู้กำกับ ได้มาให้สัมภาษณ์ด้วย 

และส่วนตัวคิดว่า เปนชู้กับผี เป็นหนังผีไทยที่เรียกได้ว่า "คลาสสิค"
เพราะด้านองค์ประกอบศิลป์ โดยรวมทำได้ดีมาก ทำให้เชื่อว่า
เฮ้ย นี่เรากลับไปในปี ๒๔๗๗ จริง ๆ คอสตูมช่วยได้มาก
แคสติ้งดีงามตั้งแต่ตัวเอกยัน Extra คนไทยสมัยก่อนผิวคล้ำหน้าคมเข้ม
ไปหาข้อมูลมา เพิ่งรู้ว่า หนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่ปากช่องด้วย
แถม Extra ก็ใช้คนแถวนั้นด้วย ถึงแม้ไม่มี CG แต่การแสดง
การใช้มุมกล้องและการเล่นกับแสงเงาทำให้ดูน่ากลัว
ประกอบกับโลเคชั่นคือที่สุดแล้ว หลอน เยือกเย็น ขนลุก แม้มองเฉย ๆ
ชื่นชมอีกในเรื่องของบท หนังมีการดำเนินเรื่องชวนให้ติดตามมาก
เข้าใจเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของตัวละครและคนดู
แล้วพอถึงจุดไคลแม็กซ์คือเงิบไปตาม ๆ กัน

ถึงแม้ไม่ใช่หนังที่เล่นบทตุ้งแช่มาก
แต่ด้วยองค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น
ทำให้หลอนได้นานเป็นสัปดาห์ หลอนในความทรงจำ
แถมให้ข้อคิดเรื่องเวรกรรม ความเชื่อเรื่องผี วิญญาณ แบบไทย ๆ
ไม่เถียงว่า สมัยนี้ใครเขาเชื่อเรื่องผีกัน แต่ถ้าหากเรามองในแง่ของวัฒนธรรม
ความเชื่อเรื่องผีและชีวิตหลังความตาย เป็นการศึกษาวิถีชีวิต
ความรู้สึกนึกคิดของคนในชาตินั้นได้ดี เพราะเรา ๆ ท่าน ๆ
ถูกปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับ "ผี" และ "ชีวิตหลังความตาย"
มาตั้งแต่เด็กตามคติพุทธ เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ
การเวียนว่ายตายเกิด ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ความเชื่อของคนไทย
เป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านความเชื่อประเภทหนึ่ง ส่วนตัวเลยคิดว่า
หนังเรื่องนี้ แม้ดูในอีก ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า มันก็ยังคงทำหน้าที่ให้ความบันเทิง
พร้อมสอนใจให้แก่ผู้ชมได้ไม่มีวันล้าสมัย

เรื่องย่อคร่าว ๆ

เรื่องราวเกิดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2477 (ราว ๆ สมัยรัชกาลที่ 7–8)
“นวลจัน” หญิงสาวชาวจังหวัดชลบุรี อุ้มท้องแก่ใกล้คลอดบากหน้าเข้ามาในพระนคร
เพื่อตามหา “คุณชอบ” ชายคนรักที่สัญญาว่าจะกลับมาหาเธอเมื่อเสร็จธุระในบางกอก
แต่หลายเดือนผ่านไปก็ไร้วี่แวว เธอจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่คฤหาสน์หลังหนึ่งตามที่อยู่
ที่เขาทิ้งไว้ให้ แต่หลังจากก้าวขาเข้ามาเยือนนวลจันต้องพบกับเหตุการณ์
ที่ชวนขนหัวลุกและเรื่องราวแปลกประหลาดมากมายของ

เจ้าของคฤหาสน์ “คุณนายรัญจวน”
ชายคนรักผู้สาบสูญ “คุณชอบ”
แม่บ้านสุดลึกลับ ชอบสวมเสื้อคอปิด “สมจิต”
หญิงสาวเร่ร่อนที่แสนเป็นมิตร “ช้อย”
ยายแก่เสียสติ เล่นตุ๊กตาหน้าผี “ยายเอิบ”

จริง ๆ แล้วคุณชอบกับคุณนายรัญจวนแต่งงานกันถูกต้องตามประเพณี
แต่ด้วยเบื่อหน่ายความเอาแต่ใจของคุณนาย คุณชอบเลยขอไปเที่ยวชลบุรีเพื่อผ่อนคลาย
ได้พบกับนวลจัน ต่อมาเธอเกิดท้อง คุณชอบเลยกลับบางกอกไปขอหย่า
แต่คุณนายไม่ยอม เกิดปากเสียงกันรุนแรงและเธอได้ใช้มีดเสียบท้ายทอย
คุณชอบตายคาที่ สมจิต แม่บ้านนำน้ำชามาเสิร์ฟตามปกติ
ตกใจที่เห็นศพคุณชอบ วิ่งหนีจนตกบันไดคอหักตาย คุณนายเลยนำศพคุณชอบ
ไปฝังไว้ในสวนดอกไม้ ส่วนศพสมจิต นำไปซ่อนไว้ในห้องเก็บของและล็อกประตูปิดตาย
ในห้องนั้นยังมีหีบใบหนึ่ง ซ่อนศพของเด็กหญิงคนหนึ่งเอาไว้โดยไม่มีใครรู้
นั่นคือลูกสาวยายเอิบที่หายไป

สมัยคุณนายรัญจวนเป็นเด็ก ได้เล่นซ่อนหากับลูกสาวยายเอิบ
และเกิดหมั่นไส้ไปล็อกกุญแจขังลูกสาวยายเอิบที่ซ่อนอยู่ในหีบ
ผู้ใหญ่พากันตามหาแต่ก็ไม่พบ เพราะคุณนายรัญจวนเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ
ฝ่ายยายเอิบก็ร้องไห้หาลูก “เอาลูกกูคืนมา…” จนกลายเป็นบ้าไป ส่วนช้อย
คือผีปอบเร่ร่อน เมื่อเห็นบ้านร้างแถมมีศาลพระภูมิร้างอีก เลยมาอาศัยอยู่ซะเลย
(แต่ภายในเรื่องว่าคุณนายรัญจวนเลี้ยงปอบ ก็แปลกดีเหมือนกัน ทำศาลให้ปอบอยู่)
ด้วยความที่เป็นปอบ จึงมีนิสัยหิวตลอดเวลา ตอนที่นวลจันคลอดลูก ช้อยอาสาเอารกไปทิ้ง
แต่จริง ๆ แล้วเอาไปกิน สมจิต แม้ตายไปแล้ว ก็ยังทำหน้าที่คนใช้ตามเดิม แต่จิตยังวนเวียน
ในที่ที่ตายเสมอ ชอบไล่จับหนูที่มาแทะศพตัวเองมากินแก้รำคาญ และใส่เสื้อปิดคอเพื่อ
ปกปิดคอบิดเบี้ยวเสียรูป นวลจันก็เป็นผีเช่นกัน แต่ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองตายแล้ว
เธอตัดสินใจผูกคอตายพร้อมลูกในท้องใต้ต้นก้ามปู

หลังจากรู้ว่า ตัวเองนี่แหละเป็นชู้ แถมคุณชอบก็มีเมียอยู่แล้วคือคุณนายรัญจวน
แม้ตายไปแล้ว เธอก็ยังวนเวียนเข้ามาถามหาคุณชอบในคฤหาสน์เรื่อย ๆ
ทุกครั้งผีในบ้านก็จะแสดงตัวหลอกเธอในตอนสุดท้ายที่รู้ความจริง ทำให้เธอวิ่งหนี
ออกจากบ้านไป วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตำนานผีแม่ลูกอ่อนที่ชอบมา
โบกสามล้อเพื่อไปยังคฤหาสน์ ขอให้สามล้อรอเพื่อจะขอเงินคนในบ้านมาจ่าย
แต่ก็ไม่ออกมาสักที ถ้าเข้าไปตาม ก็อาจเจอยายแก่ ๆ นั่งเล่นตุ๊กตาอยู่คนเดียว
หรือถ้ามองขึ้นไปบนตึก อาจเจอผู้หญิงคนหนึ่งมองลงมาจากหน้าต่าง
ท่าทางเป็นผู้หญิงสูงศักดิ์ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นหรือตาย…

ความเชื่อเรื่องผีและกฎแห่งกรรมของคนไทย

เปนชู้กับผี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมแนวสยองขวัญของ "ครูเหม เวชกร"
ซึ่งเป็นศิลปินชาวไทยรุ่นแรก ๆ ที่มีการเล่น "แสงและเงา" ในการวาดรูป (ตามอิทธิพลของศิลปะ
ตะวันตกที่เข้ามามากขึ้นในยุคราว ๆ ๒๔๙๙-๒๕๑๐) ทำให้ลายเส้นของครูเหมเป็นเอกลักษณ์
หาตัวจับยาก

งานที่ขึ้นชื่อของครูเหม คือผลงานการวาดภาพประกอบเรื่องผี ที่มีความน่ากลัว
เนื่องจากการใช้แสงเงาที่สมจริง โทนสีทึบทึม โลเคชั่นในชีวิตประจำวันของคนไทย
แต่มีความน่ากลัวแบบ ไทย ๆ เมื่อถึงเวลาค่ำคืน เช่น มุ้ง บันได ศาลา หน้าต่าง กองฟาง
ใต้ถุนบ้าน ฯลฯ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังผีหลายเรื่องในปัจจุบัน ก็ได้รับแรงบันดาลใจ
มาจากงานของครูเหมทั้งสิ้น

แม้แต่ "เปนชู้กับผี" ก็ได้นำผลงานบางเรื่องมาดัดแปลงจนเกิดเป็นฉากผีที่น่ากลัว
ในเรื่อง ผีจะไม่ได้โผล่มาแบบให้ตกใจ แต่จะมาแบบเงียบ ๆ สามารถโผล่มาได้ทุกมุมของบ้าน
แต่ทำให้หลอนได้นาน เน้นย้ำประโยคหลักของหนังที่ว่า "ผีอยู่ในทุกที่ที่เราอยู่"

ในหนังแสดงให้เห็นว่า ผี คือคนที่เคยอาศัยอยู่ในคฤหาสน์มาก่อน แต่ด้วยความผูกพันกับที่นี่
จึงทำให้วิญญาณยังคงวนเวียนไม่ไปไหน และยังคงดำเนินหน้าที่ของตนตามปกติเสมือน
ตอนมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ ยังนำเสนอความเชื่อเรื่องผีไทยอื่นๆ เช่น อย่าตากผ้าทิ้งไว้ที่ราว
ในตอนกลางคืน เพราะผีปอบหรือผีกระสือจะมาเช็ดปากหลังจากกินของเน่าเสร็จ

อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญคือ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม นวลจัน นางเอกของเรื่อง
ได้ฆ่าตัวตายพร้อมกับลูกในท้อง (ถือเป็นกรรมหนักที่สุด) ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ
คนที่ฆ่าตัวตายจะต้องทุกข์ทรมานด้วยการฆ่าตัวตายไปอีก ๕๐๐ ชาติ จึงทำให้นางเอก
ต้องวนเวียนมารับกรรมที่ตัวเองก่อไปเรื่อย ๆ คือต้องลืมว่าตัวเองได้ตายไปแล้วและต้องกลับ
มารับรู้เรื่องราวเจ็บปวดใจ โดนผีในบ้านรุมหลอก และฆ่าตัวตายซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้
ไปจนกว่าจะสิ้นเวรสิ้นกรรม

อีกประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ การแบ่งชนชั้นวรรณะภายใต้ระบบปิตาธิปไตย
(ผู้ชายเป็นใหญ่) ก่อนเรื่องจะเกิดขึ้น คฤหาสน์หลังนี้ถูกปกครองโดยเจ้าคุณพ่อ
ของคุณนายรัญจวน อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นของท่านเจ้าคุณ เมื่อท่านสิ้นบุญ
และลูกสาวเพียงคนเดียวได้ขึ้นเป็นนายหญิงของบ้าน เธอจึงคิดจะปกครองบ้านหลังนี้ด้วย
วิถีทางของเธอเอง คุณนายเลือกแต่งงานกับผู้ชายที่มียศศักดิ์ต่ำกว่า ก็คือคุณชอบ
เพราะไม่ต้องการให้มีผู้ชายคนไหนใช้อำนาจกับเธออีก หนำซ้ำคุณชอบยังต้องทำหน้าที่
ปรนนิบัติทางเพศตามที่เธอชอบบ่อยครั้ง (ซึ่งในยุคนั้น การปรนนิบัติรับใช้แทบทุกอย่าง
เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง)

การครองคู่ที่มีความไม่เสมอภาคย่อมนำพาความเบื่อหน่ายมาให้ คุณชอบเริ่มอึดอัด
และเริ่มปลีกตัวออกห่างโดยอ้างว่า ขอไปเที่ยวชลบุรี การได้พบเจอ
และช่วยเหลือผู้หญิงชาวบ้านธรรมดา ๆ แต่อ่อนหวาน ใสซื่อบริสุทธิ์
อย่างนวลจัน ก่อให้เกิดความรู้สึกสมชายชาตรีอย่างที่เขาควรจะเป็น
ความสัมพันธ์ต้องห้ามจึงเกิดขึ้น ยิ่งได้รู้ว่า เขากำลังจะมีเลือดเนื้อเชื้อไข
กับเธอ มันทำให้ความรู้สึกเป็นผู้นำครอบครัวก่อตัวขึ้นอย่างแรงกล้า
ผิดกับการอยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่ แต่ไร้เงาของเด็กน้อยวิ่งเล่นให้ชื่นใจ
อีกทั้งยังรู้สึกว่าตนเป็นเพียงทาสบำเรอสวาท
ดังนั้นคุณชอบจึงเลือกที่จะกลับไปขอหย่ากับคุณนายรัญจวน

 

แต่เมื่ออำนาจทางสังคมสองรูปแบบมาปะทะกัน ย่อมเกิดหายนะ (อัตตาแบบปิตาธิปไตย
ของคุณชอบ ปะทะ ยศถาบรรดาศักดิ์ของคุณนาย) ทั้งสองมีปากเสียงกัน คุณชอบเปิดเผยว่า
เขามีสาวอื่นที่ชลบุรีและกำลังจะแต่งงานกัน มันทำให้คุณนายรู้ว่า เธอกำลังพ่ายแพ้
จึงอ้อนวอนเขาแต่เมื่อไม่เป็นผล เธอจึงเลือกใช้อำนาจทางสังคมปลิดชีพเขา
และเมื่อสมจิต คนใช้ผู้ภักดีมาคอหักตายไปอีกคน เธอจึงปกปิดความผิดของตัวเองเช่นเคย
และไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น สะท้อนให้เห็นรูปแบบการใช้อำนาจในทางที่ผิด ยายเอิบที่
ลูกสาวโดนคุณนายรัญจวนขังตายในหีบก็เป็นตัวแทนของคนที่ถูกคนมีอำนาจทางสังคมเล่นงาน

ส่วนนวลจันและช้อย คือตัวแทนของคนชายขอบ คนที่ไม่ได้รับโอกาสอย่างที่สมควรได้รับ

ไม่รับรู้เหตุการณ์สำคัญหรือเรื่องราวที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง เห็นได้ชัดว่า นวลจัน
ถูกทิ้งให้อุ้มท้องและรอคอยอย่างเดียวดาย เมื่อมาขออาศัยในบ้าน ก็โดนสมจิตไล่ให้
ไปนอนเรือนที่แยกออกไปจากเรือนใหญ่ ได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกดูแคลน และเรียกเธอว่า
"นังบ้านนอก/นังไพร่/ผู้หญิงชั้นต่ำ" เพียงเพราะเป็นคนต่างจังหวัด

 

ส่วนช้อยนั้น จากการแต่งกายนุ่งซิ่นและไว้ผมยาวเก็บเป็นมวย
ทำให้นึกถึงสาวอีสาน/สาวเหนือ/สาวมอญสมัยก่อน ถึงแม้เป็นปอบเร่ร่อนที่ได้รับอนุญาต
ให้อาศัยในบริเวณบ้าน แต่ก็เป็นศาลเพียงตาหลังเล็ก ๆ สื่อถึงการถูกกีดกันออกจาก
สังคมในบ้านหลังนั้น ด้วยความที่เป็นคนชายขอบเหมือนกัน ทำให้ช้อยนึกเห็นใจนวลจัน
และยอมเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวของเธอ

แต่ทั้งนวลจันและคุณนายรัญจวน ต่างก็ตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตย
และถูกวาทกรรมความรักโรแมนติก (Romantic love) เข้าครอบงำ
กล่าวคือ เชื่อว่า ความรักจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ ที่จริง
ความรักและชีวิตจริง ความสัมพันธ์จริง ๆ มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด ทำให้ทั้งสองคน
ต่างคนต่างมองว่า อีกฝ่ายเป็นชู้กับสามีตัวเอง ปะทะคารมเพื่อจะแย่งชิงความเป็นหลวง
(และแย่งผู้ชายนั่นเอง) แต่มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะต่างฝ่ายก็หัวใจสลาย
และสิ้นศรัทธาในรักไม่ต่างกัน นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของคฤหาสน์ของเธอ
ยังสื่อได้ถึงความล่มสลายของชนชั้นสูงอีกด้วย

อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก

หากใครมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า หนังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก
ค่อนข้างมาก ตั้งแต่ เสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร (คุณนายรัญจวน/คุณชอบ/สมจิต)
คุณนายรัญจวนมีการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเบาบางและทำผมสั้นตามสมัยนิยม
มีการฟังแผ่นเสียงฝรั่ง ส่วนคุณชอบนั้นก็เล่นไวโอลิน แต่งตัวด้วยเสื้อ-กางเกง
แบบผู้ชายตะวันตก ส่วนสมจิต แต่งกายแบบแม่บ้านฝรั่ง
การใส่ชุดปิดคอแขนยาวสีดำ ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงหนังแนว Gothic
ของฝรั่ง นอกจากนี้ยังมีฉากเต้นรำ ฉากเสิร์ฟน้ำชายามบ่าย
หรือแม้แต่คฤหาสน์ก็เป็นการผสมผสานของบ้านทรงไทย + สไตล์โคโลเนียล
(เรียกง่าย ๆ ว่า บ้านขนมปังขิง) เนื่องจากมีการฉลุลายไม้
อย่างวิจิตรบรรจงคล้ายขนมปังขิงของยุโรป

นอกจากนี้ ยังขนบความป็นตะวันตกเกี่ยวกับเรื่องสิทธิสตรีและสตรีนิยมแบบตะวันตก
อันเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยยุคนั้นยังถูกแอบแฝงอยู่ในทัศนคติของคุณนายรัญจวนด้วย
เพราะชนชั้นสูงเป็นชนชั้นที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกมากกว่าชาวบ้านธรรมดา ๆ
ดังนั้น คุณนายรัญจวนจึงยึดถือเอาความเป็นเฟมินิสต์หรือเรื่องการที่เพศหญิงมีสิทธิ์
เสรีทัดเทียมผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งเห็นได้จากการที่เธอเป็นใหญ่ในเรื่องบนเตียงอีกด้วย

เปนชู้กับผี จึงไม่ใช่แค่หนังผีที่ดูเอาสนุกหรือเอาหลอนเท่านั้น
หากแต่ยังแฝงอะไรที่ลึกซึ้งเอาไว้ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ

เปนชู้กับผี (The Unseeable)
ผู้กำกับภาพยนตร์ : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
ผลงานกำกับเรื่องอื่น ๆ : ฟ้าทะลายโจร/หมานคร
ปีที่ออกฉาย : 2549